‘อมตะ วีเอ็น’กวาดรายได้ 5,379.40 ล้านบาท รับกำไรสุทธิ 100.06 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2568 โตเพิ่ม จัดงบลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ เล็งขยายพอร์ตการลงทุนในเวียดนามต่อยอดธุรกิจ
นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 5,379.40 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 100.06 ล้านบาท โดยยอดขายที่ดินส่วนใหญ่ มีแหล่งรายได้มาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ซึ่งเป็นทำเลที่ลูกค้ามีความต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน คาดว่าการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลองถั่น (ภาคใต้ของเวียดนาม) มีมูลค่าใกล้เคียงกับอมตะซิตี้ ฮาลอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีค่าแรงสูงและมีราคาขายที่ดินสูง 1 เท่า
ทั้งนี้อมตะวีเอ็นมียอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) ที่ 22 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 130 ไร่ คาดว่าจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 68 และส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568
สำหรับในปี 2568 ถือเป็นปีครบรอบ 30 ปี อมตะ วีเอ็น โดยทางบริษัทตั้งเป้าการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามไว้ที่ 100-110 เฮกเตอร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่สามารถขายที่ดินได้ 75 เฮกเตอร์ เติบโตเพิ่มขึ้น 30-40% โดยสัดส่วนหลักของการขายที่ดินจะมาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง (ภาคเหนือของเวียดนาม) ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ คิดเป็น 60-70% ของยอดขายทั้งหมด
ปัจจุบัน อมตะ วีเอ็น มีที่ดินรองรับการขายใน 2 นิคมหลัก ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง มีที่ดินรวม 714 เฮกเตอร์ และได้ขายไปแล้วประมาณ 50% โดยเริ่มพัฒนาที่ดินเฟส 3 เพื่อรองรับการขายอย่างต่อเนื่อง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ลองถั่น ที่มีที่ดินรวม 410 เฮกเตอร์ ซึ่งยังเหลือที่ดินขายอีกประมาณ 70-80%
อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกการลงทุนในเวียดนาม เกิดจากการปรับตัวภายในประเทศที่ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขออนุญาตต่างๆ รวมถึงสิทธิทางภาษีที่เอื้อต่อการผลิตเพื่อการส่งออก ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ตลอดจนการเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคทำให้เวียดนามยังคงเป็นหมุดหมายปลายทางหลักของนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อขยายการลงทุนใหม่
ทางอมตะ วีเอ็น ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ขณะนี้ได้มีการศึกษาโครงการนิคมใหม่ที่คาดว่าจะได้ใบอนุญาตภายในปี 2568 ใช้งบลงทุนประมาณ 15-20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในปี 2569 บริษัทจะลงทุนทั้งในเรื่องที่ดินและค่าก่อสร้าง โดยมีแผนจะพัฒนานิคมใหม่ขนาดประมาณ 500 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 3,000 ไร่ รองรับการย้ายฐานการผลิตและผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
“แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ แต่เวียดนามยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น และต้องการพื้นที่ที่มีความสะดวกในการขนส่ง”