ปตท.สผ.สร้างความมั่นคงพลังงาน โฟกัสลงทุนแหล่งก๊าซ-น้ำมัน ในอ่าวไทย-มาเลเซีย พร้อมนำร่องโมเดล CCS โครงการแหล่งอาทิตย์ร่วมลดคาร์บอน
กว่า 30 ปีที่ปตท.สผ.มีบทบาทสำคัญกับประเทศในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน และยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไปในทุกช่วงของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์พลังงานโลก
สำนักข่าว The Better ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ถึง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานว่า เราปรับทิศทางกลยุทธ์ตามการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ เมื่อ 2-3 ปี ได้เห็น Energy Transition การเปลี่ยนรูปแบบของพลังงาน จนมาล่าสุดผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย- ยูเครน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ
ทางปตท.สผ.ยังคงเดินตามกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 3 แนวทาง 1.การขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตสำรวจปิโตรเลียมหรือ Drive Value ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทย และเร่งรัดการพัฒนาโครงการหลักๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง
สำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ E&P ได้ปรับมาหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้การลงทุนจะไม่เน้นไปในพื้นที่ที่ไม่ชำนาญมากนัก อย่างเช่นในอดีตเคยไปลงทุนในประเทศที่มีความชำนาญ ทั้ง บราซิล และแคนาดา
ขณะเดียวกันนอกจากการสร้างมูลค่าการลงทุนทางธุรกิจแล้วยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอ่าวไทย การหาแหล่งผลิตก๊าซฯในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ ยังมีความจำเป็นเพราะไทยใช้ก๊าซฯที่ผลิตจากเมียนมาร์สัดส่วน 17% รวมถึงการลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้ว 20 ปี ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(MT JDA)
2.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เข้ามาทั้งภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศ รวมถึงข้อกำหนดทางภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไทยมีข้อตกลงร่วม NET ZERO ในปี 2030 ดังนั้นต้องหาแนวทางในการลด และการหาวิธีการเก็บคาร์บอน ขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) โครงการปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท
และ 3.Diversify การสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มองหาโอกาสลงทุนอื่นๆมากขึ้น นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ โจทย์มันยากตรงที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานจะไปในทิศทางไหน จะเป็นแอมโมเนีย หรือไฮโดรเจน ยังไม่ทราบ ขณะนี้ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ เราจะโฟกัสในเรื่องรูปแบบพลังงาน และเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อว่าปตท.สผ.มีบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพสูง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ได้พัฒนาโดรนไปหลายโครงการ ทั้งการถ่ายภาพทางอากาศ การเก็บคาร์บอนของป่าต่างๆ หุ่นยนต์ใต้น้ำ
ชูกลยุทธ์ Coming Home มุ่งลงทุนโครงการที่ใช่เท่านั้น
มนตรี กล่าวว่า ในเรื่องของแผนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เราพร้อมจะลงทุนพลังงานใหม่ทุกโอกาส ทุกโครงการ ในสัดส่วนที่พอดีแต่ไม่ใช่ทุ่มทั้งหมด เพื่อให้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆได้จากผู้ร่วมทุน
ทั้งนี้ ปตท.สผ.เรียนรู้ E&P มาเยอะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อย่างในช่วงปี 2010 หลายคนมองว่าโลกจะขาดแคลนน้ำมัน ราคาน้ำมันทำสถิติสูงสุด 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ช่วงก่อนเกิดวิวัฒนาการ Shale Oil หรือ เชลออย(การผลิตน้ำมันจากหินดินดานในสหรัฐ) ตอนนั้นตัดสินใจกล้าลงทุนไปเยอะ ทั้งออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล ไปในที่ๆคิดว่าจะต้องหาแหล่งพลังงาน พอสถานการณ์มันปรับเปลี่ยน ในปี 2014-2015 กลายเป็นน้ำมันล้นโลก
หลังจากนั้นก็ต้องปรับสภาพการลงทุน E&P โดยถือว่าบริษัทฯยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งพอสมควร และมีศักยภาพของบุคคลากรที่สามารถเติบโตได้ ควรจะเติบโตในที่ที่เราโฟกัส ยุทธศาสตร์นี้เริ่มตั้งแต่ปี 2018 โดยใช้หลัก Coming Home ความหมายของ Home คืออ่าวไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนตะวันออกกลาง ยังคงเลือกพื้นที่ที่คุ้นเคยคือ โอมานกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
ส่วนการขยายออกนอกโครงการที่มีอยู่ 40-50 โครงการนั้น คงไม่ออกไปประเทศที่หลุดโฟกัส โดยประเทศไหนไม่ได้อยู่ในโฟกัสก็ผ่องถ่ายออกไป ขายออกไปบ้าง เช่น บราซิล แองโกลา และกำลังจะออกจากออสเตรเลีย
โฟกัสลงทุนในอ่าวไทยและมาเลเซีย
ตอนนี้ยังให้ความสำคัญการลงทุนสำรวจในอ่าวไทยและมาเลเซียในลำดับต้นๆ ทั้งแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่ต้องเร่งกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า 800 ล้านาลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน ในเดือนเม.ย.ปี 2567 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประเทศได้ ส่วน 2 แปลงใหม่ที่เพิ่งได้ลงนามไปอยู่ในบริเวณเดียวที่ติดกับแหล่งเอราวัณและบงกช จะเร่งสำรวจ หากมีศักยภาพ สามารถวางแท่นผลิตปิโตรเลียมทันที
ด้านโครงการลงทุนปิโตรเลียมในมาเลเซีย ปัจจุบันมีโครงการกว่า 10 แปลง ทั้ง MT JDA และโครงการในรัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก
ส่วนที่เมียนมาร์ยังดำเนินการต่อเนื่อง แต่ไม่มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม โดยประคองสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่ให้มีผลกระทบต่อไทย ปัจจุบันแหล่งซอติก้า มีปริมาณก๊าซฯเข้าไทยวันละ 200 ล้าน ลบ.ฟุต แหล่งยาดานา ผลิตอยู่วันละ 500-600 ล้านลบ.ฟุต ซึ่ง 2 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตถูกส่งมาที่ไทย
“แหล่งยาดานาจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2028 แต่ยังมีศักยภาพที่ผลิตต่อได้ อยู่ในช่วงของการพิจารณาว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนอย่างไรหรือไม่ แต่วันนี้จะไม่ลงทุนเพิ่มในเมียนมาร์แล้ว ต้องยอมรับว่าแหล่งก๊าซในเมียนมาร์มีความความสำคัญกับไทยมาก เพราะโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 11 แห่ง ยังใช้ก๊าซจากเมียนมาร์ หากก๊าซฯไม่มาไฟฟ้าจะดับในภาคตะวันตกรวมถึงภาคใต้ด้วย”
สำหรับแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ๆที่ปตท.สผ.สนใจนั้น ต้องยอมรับว่า ธุรกิจน้ำมันและก๊าซยังมีความไม่แน่นอนตรงที่ไม่รู้วาพลังงานรูปแบบใหม่จะมาเมื่อไหร่ ดังนั้นการที่จะเข้าไปซื้อกิจการอะไรก็ตามจะไม่ซื้อในกิจการที่ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเลือกได้ก็เป็นโครงการก๊าซในระยะต้นๆ เพื่อให้สามารถรักษาปริมาณการผลิต ปริมาณสำรอง การเข้าไปลงทุนแล้วต้องรอการผลิต 5-7 ปี คงไม่ใช่
นำร่องโมเดล CCS แหล่งอาทิตย์เก็บคาร์บอนใต้ทะเล
มนตรี กล่าวว่า หลังจากการที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608 สอดคล้องกับนโยบายปตท.สผ. ที่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม
ทั้งนี้ได้พัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มนำร่องกับแหล่งปิโตรเลียมในโครงการแหล่งอาทิตย์อ่าวไทยแล้วตั้งแต่ปี 2564
สำหรับ CCS ถ้าอธิบายให้เข้าใจคือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้มาเก็บไว้ในใต้ดิน หรือในชั้นหินใต้ทะเล โดยผ่านการแปรรูปเป็นของเหลวเหมือนน้ำและเก็บไว้ใต้ดิน อย่างกระบวนการผลิตก๊าซเมื่อส่งเข้าโรงแยกก๊าซฯแทนที่จะปล่อยคาร์บอนฯออกไปก็นำมาเก็บในรูปCCS ซึ่งการเก็บมีหลายรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งที่นำไปใช้กับ 200 โครงการทั่วโลก คือ เอาไปเก็บในชั้นน้ำที่อยู่ถัดจากผิวทะเลลงไปโดยมีหินปิดทับ
อย่างไรก็ตาม CCS จะเกิดได้เป็นรูปธรรมในไทยยังต้องมีความร่วมมือกับหลายฝ่าย และ มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ คือ 1.ใครมีสิทธิ์ทำบ้าง รูปแบบ ต้องมีไลเซ่นหรือไม่ 2.การกำหนดผลตอบแทนการลงทุนของคาร์บอนเครดิต 3. ภาระความรับผิดชอบในการติดตามคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ใต้น้ำ ซึ่งปกติใช้เวลา 10-15 ปี
.“สิ่งสำคัญ ไทยต้องกำหนด 3 แนวทางดังกล่าว ตั้งแต่ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง วิธีการทำ ใช้การสำรวจหรือเปิดประมูล ต้องมีความชัดเจน ซึ่งปตท.สผ.มีความพร้อม และทดลองนำร่องไปก่อน เพราะมีความรู้เรื่องการขุดเจาะ ในต่างประเทศทำไปแล้ว 200-300 โครงการ บางประเทศกลายเป็นธุรกิจไปแล้วมีคนมารับทำ ให้คนที่ปล่อยคาร์บอนตามโรงงงานต่างๆ แปลงคาร์บอนเป็นของเหลวติดลบ 26 องศา แล้วมีคนเก็บไว้ให้และคิดค่าดำเนินการ”
สำหรับประเทศไทยโครงสร้างธรณีวิทยาในอ่าวไทยตอนบนเหมาะสมมากกับการทำ CCS สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจว่าการเก็บคาร์บอนไม่ใช่การเก็บสารพิษ ในยุโรป ออสเตรเลีย ได้เริ่มทำโครงการนี้มาก แต่ไทยยังพัฒนาช้า ถ้าดูแผนแม่บทของชาติ มีเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทั่วประเทศปล่อยไว้ 300 ล้านตันต่อปี ลงมาเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคาร์บอนฯอยู่ในภารขนส่งเป็นหลัก ถ้าคิดแบบไม่ทำอะไรเลยแต่ใช้การปลูกป่ามาดูดคาร์บอนฯ ป่า 1 ไร่ เก็บคาร์บอนฯ 2 ล้านตัน ขณะที่ไทยมีป่าอยู่ 300 กว่าล้านไร่ เทียบกับมีคาร์บอนฯ 300 ล้านตัน ต้องแปลงประเทศไทยครึ่งหนึ่งให้เป็นป่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้
มนตรี กล่าวว่า แนวทางที่จะทำได้ คือ ลดการใช้น้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนฯเปลี่ยนสภาพรถให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า(EV) แต่อย่าลืมว่ารถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซ แม้ลดใช้น้ำมันได้ หรือการปลูกป่าเพิ่มคำนวณแล้วยังเหลืออีก 40 ล้านตัน ควรทำ CCS ซึ่งการเริ่มทำโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ ทำได้แค่ 1 ล้านตันต่อปี ถ้าภาครัฐไม่กลับมาตอบโจทย์ 3 ข้อให้ได้ มันช้าไป จึงต้องการนำร่องโครงการไปก่อน จะรอให้มีกฏระเบียบออกมาเพื่อลดคาร์บอนฯ 40 ล้านตันให้ได้ภายในปี 2040 เหลือเวลา 17 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย
ปัจจุบันนอกจากปตท.สผ.แล้วยังไม่มีบริษัทต่างชาติไหนเข้ามาทำ CCS เนื่องจากยังมีการลงทุนไม่เยอะ แต่เค้าไปทำในพื้นที่อื่นๆ มีบริษัทต่างชาติมาเสนอว่าถ้าโมเดลนี้ทำเป็นธุรกิจได้ ดังนั้นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอนาตจะเปลี่ยนไปในรูปแบบการกักเก็บคาร์บอน ตราบใดที่เราใช้ก๊าซฯก็ยังมีการปล่อยคาร์บอนฯ จะเลิกไปก็ต่อเมื่อมีพลังงานรูปแบบใหม่มา ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และคงทำไม่ได้เร็ว เพราะโครงสร้างพื้นฐานของไทยใช้ก๊าซเป็นหลัก
อยากเสนอตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นเป็นแนวคิดญี่ปุ่นที่เท่ห์มาก เลือกเมืองต้นแบบแห่งหนึ่งที่มีโรงกลั่นนั้นใกล้ทะเล โดยประกาศจะเป็นเมืองแรกที่ทำ CCS เริ่มทำสำรวจความเห็นจากประชาชน จะเอาคาร์บอนจากโรงกลั่นฯเจาะหลุมไปทิ้งในทะเล 2 แห่ง ใช้เวลา 2ปี ทุกคนสนับสนุนและได้รับรับงบจากภาครัฐ สามารถฝังคาร์บอนฯลงไปได้ 2 แสนตัน ขณะนี้หยุดมา 2-3 ปี อยู่ในช่วงการตรวจวัดคุณภาพว่าคาร์บอนฯในการเก็บ
อย่างไรก็ตามอยากทำความเข้าใจว่าไม่ใช่หยุดผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นได้ เพราะยังไม่มีอะไรมาทดแทน ไม่ว่าจะมีนโยบายพลังงานทดแทนเข้ามาใช้มากขึ้น แต่ยังต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นหากมองในด้านความมั่นคงพลังงาน เมื่อมีการใช้ก๊าซเป็นหลัก ขณะที่ก๊าซที่ผลิตอยู่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จำเป็นต้องมาช่วยกันว่าสามารถแยกและกักเก็บใต้ดินได้ ซึ่งต้องสื่อสารจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม