หลัง ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ ผู้สื่อข่าว 3 มิติ ออกมาเปิดคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีที่จัดประชุมขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชนวนจุดความร้อนแรงในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว
และขยายต่อไปยังประเด็นโครงสร้างบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ‘ไอทีวี’ คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนการถือหุ้นกว่า 52.92%
และหากดูผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอินทัชในปัจจุบัน พบว่าเครือบริษัทกัลฟ์ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ GULF ENERGY DEVELOPMENT PCL.) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนรวม 46.61%
เว็บไซต์ "ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (SET) ระบุ 10 ลำดับผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนร้อยละ (%) มากที่สุดใน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดังนี้
1. สารัชถ์ รัตนาวะดี สัดส่วน 35.67 %
2. UBS AG SINGAPORE BRANCH สัดส่วน 12.55%
3.GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED สัดส่วน 9.89%
4.BANK OF SINGAPORE LIMITED สัดส่วน 5.25%
5.บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 4.70 %
6.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สัดส่วน 4.15 %
7.GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. สัดส่วน 3.22%
8.RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED สัดส่วน 2.12%
9.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 1.88%
10.SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED สัดส่วน 1.31%
โดย GULF ก่อตั้งในปี 2554 และนำธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2560 ถึงปัจจุบันมีโครงสร้างธุรกิจหลักแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ธุรกิจพลังงาน (Energy Business) ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทฯ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจก๊าซ
2.ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค (Infrastructure & Utilities Business)
3.ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business)
ขณะเดียวกับที่ในเดือนเม.ย. ปี 2564 GULF ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และก้าวขึ้นสู่ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ใน INTUCH ด้วยสัดส่วนหุ้นรวม 44.02% ไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
และอย่างที่ทราบกันดีอีกว่า INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน กลุ่มบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ด้วยสัดส่วน 40.44% รองลงมา คือ Singtel Strategic Investments Pte. Ltd. สัดส่วน 23.31% และที่เหลืออื่นๆ สัดส่วน 36.25%
โดยเดือนมีนาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา เอไอเอส ประกาศแผนเปลี่ยนผ่านธุรกิจครั้งใหญ่ภายใต้วิสัยทัศน์ Cognitive Tech-Co เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและคนไทยตามแผน 3 ปี วางเป้าหมายให้แผนเสร็จสมบูรณ์ในสิ้นปี 2567
จากปัจจุบันเอไอเอส ดำเนินธุรกิจ 4 เสาหลัก คือ
1.บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MOBILE) พร้อมขับเคลื่อนประสบการณ์และสร้างรายได้จากบริการ 5G
2.บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน (FIXED BROADBAND) ที่มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
3.ธุรกิจองค์กร (ENTERPRISER BUSINESS) เร่งการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลให้กับองค์กรธุรกิจ
4.บริการดิจิทัล (DIGITAL SERVICE) ความเชื่อมโยงบริการดิจิทัลร่วมกันระหว่างลูกค้า
เห็นได้ว่าในส่วนของบริการ Digital Service จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอนาคต และยังเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดเดียวกับที่ GULF วางไว้เป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญในอนาคตเช่นกัน
สอดคล้องกับที่ ‘สมชัย ลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส ระบุว่า “ธุรกิจบริการดิจิทัลจะเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของเอไอเอส โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็งสูงให้กับผู้ใช้งานในประเทศได้อย่างครอบคลุม ที่ขณะนี้เอไอเอส อยู่ระหว่างการทำธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในครึ่งแรกปีนี้”
รวมไปถึงความคืบหน้าธุรกิจธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) จากความร่วมมือระหว่าง เอไอเอส ธนาคารกรุงไทย และ GULF ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ (Public Hering) เพื่อออกใบอนุญาต (License) จัดตั้งเวอร์ชวล แบงกิง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย กัลฟ์ จะใช้ความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานด้วยการไดเวอร์ซิฟายด์ไปสู่ธุรกิจด้านดิจิทัลด้วยเช่นกัน ตามหนึ่งในสามของหน่วยธุรกิจหลักของ GULF
นอกจากนี้ GULF ยังเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมต่อเนื่องในปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โดยให้บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส ซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดของไทยคม มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 10,873.33 ล้านบาท
โดยไทยคม แบ่งการดำเนินธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ธุรกิจดาวเทียมและบริการต่อเนื่อง ให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการประจำที่ ส่วนดาวเทียมบรอดแบนด์ ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (แบบจุดต่อจุด)
2. ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อ (ดำเนินการโดยบริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (ไทยเอไอ))
3. ธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศ ให้บริการด้านโทรคมนาคมใน สปป. ลาว ผ่านการลงทุนในบริษัท เชนนิง ตัน อินเวสเม้นท์ส พีทีอี ลิมิเต็ด (เชน) เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์
โดยการเข้าลงทุนในกิจการไทยคมของ GULF ในครั้งนี้ ยังเพื่อต่อยอดในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ให้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจหลายรูปแบบต่อเนื่อง ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจในหลากหลายประเทศ และมีโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจ New Space ที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต อีกด้วย
ขณะที่ปัจจุบัน INTUCH ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด (22 ธ.ค. 2565) ด้วยสัดส่วนกว่า 52.92%
อย่างไรก็ตาม หากดูโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม GULF , INTUCH, AIS และ ไทยคม ล้วนมีความเกี่ยวข้องหลายด้านต่อการสนับสนุนการทำธุรกิจบริการดิจิทัล ที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต
ซี่งหากการมีแพลตฟอร์ม ITV ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจของ INTUCH ก็ยังสามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ตามวัตถุประสงค์เดิม คือ การเป็นสื่อ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และคอนเทนต์จากกลุ่มธุรกิจในเครือที่เข้ามารองรับอย่างแข็งแกร่ง