ปตท.สผ. ไตรมาส 2/66 โกยกำไรสุทธิ 21,039 ล้านบาท

ปตท.สผ. ไตรมาส 2/66 โกยกำไรสุทธิ 21,039 ล้านบาท
ปตท.สผ. ไตรมาส 2/66 โกยกำไรสุทธิ 21,039 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกของปีนี้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 40,321 ล้านบาท มองครึ่งปีหลังอุปสงค์ใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว

 

ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี2566 จำนวน 610 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 10 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 2เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี2565 ที่มีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ สรอ. แม้ว่ารายได้จากการขายลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงจากขาดทุนในไตรมาส 2 ปีก่อนเป็นกำไรในไตรมาสนี้ โดยกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี2566 จำนวน 610 ล้านดอลลาร์ สรอ. แบ่งเป็น

กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 2 ปี2566 จำนวน 585 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 62 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี2565 ที่มีกำไร 647 ล้านดอลลาร์ สรอ. สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายลดลง 459 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณการขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง ในขณะที่ภาษีเงินได้ลดลง 227 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากโครงการในประเทศไทย ประเทศโอมาน และประเทศมาเลเซียตามกำไรที่ลดลง

นอกจากนั้นค่าภาคหลวงลดลง 85 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่จากโครงการสัญญาแบ่งปันผลผลิตในประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น และโครงการในประเทศมาเลเซียมีรายได้จากการขายลดลง ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 44 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากโครงการมาเลเซีย แปลง เค และรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 31 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากเงินสดคงเหลือเพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

กำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 2 ปี2566จำนวน 25 ล้านดอลลาร์ สรอ. เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 72 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี2565 ที่มีขาดทุน 47 ล้านดอลลาร์ สรอ. สาเหตุหลักจากการรับรู้กำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ซึ่งรวมกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 4 ล้านดอลลาร์ สรอ.) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวลดลง 

ในขณะที่ไตรมาส 2 ปีก่อนรับรู้ขาดทุนที่ 38 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ซึ่งรวมขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 23 ล้านดอลลาร์ สรอ.) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นไตรมาสนี้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากการจ่ายเงินปันผลในเดือนเมษายน ปี2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลง ในขณะที่ไตรมาส 2 ปีก่อนรับรู้ขาดทุนที่ 44 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากการรับเงินลูกหนี้การค้าในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าลง

ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2566 จำนวน 1,180 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 262 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 29 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2565 ที่มีกำไรสุทธิ 918 ล้านดอลลาร์ สรอ. แม้ว่ารายได้จากการขายลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงจากขาดทุนจำนวนมากในงวดหกเดือนปีก่อน
เป็นกำไรในงวดหกเดือนปีนี้ โดยกำไรสุทธิสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2566 จำนวน 1,180 ล้านดอลลาร์ สรอ. แบ่งเป็น

กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2566 จำนวน 1,178 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 39 ล้านดอลลาร์สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2565 ที่มีกำไร 1,217 ล้านดอลลาร์ สรอ. สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายลดลง 296 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากราคาขายเฉลี่ยลดลง ในขณะที่ปริมาณการขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 119 ล้านดอลลาร์ สรอ.

โดยหลักจากรายการปรับปรุงทางบัญชีเมื่อสิ้นสุดสัมปทานของโครงการบงกช รวมถึงโครงการจี 1/61 และโครงการจี 2/61 มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น สุทธิกับภาษีเงินได้ลดลง 185 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากโครงการในประเทศไทย ประเทศโอมาน และประเทศมาเลเซียตามกำไรที่ลดลง รวมถึงค่าภาคหลวงลดลง 109 ล้านดอลลาร์สรอ. ส่วนใหญ่จากโครงการสัญญาแบ่งปันผลผลิตในประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น และโครงการในประเทศมาเลเซียมีรายได้จากการขายลดลง นอกจากนั้นรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 62 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากเงินสดคงเหลือเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

กำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2566 จำนวน 2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 301 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับงวดหกเดือนสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ปี2565 ที่มีขาดทุน 299 ล้านดอลลาร์ สรอ. สาเหตุหลักจากการรับรู้กำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำนวน 3 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ซึ่งรวมกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 7 ล้านดอลลาร์ สรอ.) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวลดลง ในขณะที่งวดหกเดือนปีก่อนรับรู้ขาดทุนที่ 278 ล้านดอลลาร์ สรอ. (ซึ่งรวมขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการ Mark to Market จำนวน 153 ล้านดอลลาร์ สรอ.) จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แนวโน้มภาพรวมธุรกิจในอนาคตราคาน้ำมันดิบ

ด้านอุปสงค์ ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 จากความต้องการใช้ตามฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศฝั่งตะวันตก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางของสหรัฐฯและยุโรป ที่ยังคงมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง

ด้านอุปทาน กลุ่ม OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีผลตั้งแต่ พฤษภาคม 2566–ธันวาคม 2567และประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้คาดว่าอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะตึงตัวขึ้นในไตรมาส 3 นี้

ปตท.สผ. คาดการณ์ว่าครึ่งหลังของปี 2566 อุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวเล็กน้อย แต่ตลาดยังมีความกังวลด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในกรอบราคา 70–80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อไป เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง นโยบายของกลุ่ม OPEC+ และรัสเซีย แผนการใช้น้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ เป็นต้น

ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว

สำหรับไตรมาส 3–4 ปี2566 คาดว่าสถานการณ์LNG ในตลาดโลกยังคงอยู่ในภาวะล้นตลาด โดยกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ปริมาณรวมอยู่ที่ 430 ล้านตันต่อปี (คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5จากปี 2565)ในขณะที่ความต้องการรวมคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 412 ล้านตันต่อปี (ข้อมูลจาก FGE เดือนมิถุนายน 2566)

ทั้งนี้ ปตท.สผ. คาดการณ์ราคาเฉลี่ย Asian Spot LNG สำหรับปี 2566อยู่ประมาณ 13– 17 ดอลลาร์ สรอ. ต่อล้านบีทียู (ข้อมูลจาก PIRA เดือนพฤษภาคม และ WoodMackenzie, FGE เดือนมิถุนายน 2566)

โดยปัจจัยหลักที่กดดันราคาได้แก่ ระดับ LNG คงคลังในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังคงสูงทั้งจากฤดูหนาวที่ไม่รุนแรงดังที่คาดการณ์และการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูงขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อความต้องการก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยที่ส่งให้ราคาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการเปิดเสรีการค้าสำหรับ LNG ในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชียและคาดว่าประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มเตรียมกักตุน LNG สำหรับฤดูหนาวของปี 2566 รวมถึงความต้องการจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อสมดุลของตลาด LNG
 

TAGS: #PTTEP #ปตท.สผ.