The Better ได้รวบรวมผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 กลุ่มหุ้นสายการบิน 3 รายของไทย ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส และแอร์เอเชีย จะมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก
ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกในครึ่งปีแรกของปี 2566 มีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometers: RPK) ของทุกภูมิภาคทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 47.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสายการบินภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตมากที่สุกเฉลี่ยอยู่ที่ 125.6% โดยมีตัวแปรสำคัญจากการเปิดประเทศของจีน รองลงมาคือสายการบินในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง 59.1% และ 45.4% ตามลำดับ
ขณะที่ ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยถึงภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมทั้งสิ้น 12,914,691 คน หรือขยายตัวถึง 521% โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเชียตะวันออกได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย
The Better ได้รวบรวมผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 กลุ่มหุ้นสายการบิน 3 รายของไทย ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส และแอร์เอเชีย จะมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก
1.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI 6 เดือนแรกของปี 2566 การบินไทยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท
ด้าน รายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.2%YoY โดยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.1%YoY
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบัน ทางการบินไทย และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ (ไตรมาส 2 ที่ผ่านมารับเครื่องบินเช่ามา 2 ลำ)
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 การบินไทย และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วน การบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%
2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการผลการดำเนินงาน 2,022.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259% และผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,546.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 1,544.8 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.74 บาท
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 2 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 123% เทียบกับปี 2565 โดยผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ผ่านเว็บไซต์และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็น 47.7% และ มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 81.4%
3.บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นของ ไทยแอร์เอเชีย สำหรับครึ่งปีเเรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 19,641.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 324% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนรายได้บริการเสริมอยู่ที่ 19% ของรายได้จากการขายและบริการ ทั้งนี้ ยังคงรายงานขาดทุนสุทธิอยู่ที่ (653.1) ล้านบาท จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ฟื้นขึ้นชัดเจนจากขาดทุน (7,278.5) ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณที่นั่งที่ทำการบิน (Seat Capacity) กลับมาอยู่ที่ 77% ของช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และขนส่งผู้โดยสารไปแล้ว 9.22 ล้านคน พร้อมคงเป้าหมาย 20 ล้านคนในปีนี้
ขณะที่ ค่าโดยสารเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,673 บาท ซึ่งสนับสนุนให้รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 มาอยู่ที่ 1.76 บาท สะท้อนการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สมเหตุสมผลในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ในขณะที่ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) และต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง (CASK exfuel) ลดลงมาอยู่ที่ 1.76 บาท และ 1.16 บาท ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ประมาณ 15%