กลต. นับหนึ่งไฟลิ่ง MCA ผู้นำธุรกิจด้านแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดแบบครบวงจร ขาย IPO 60 ล้านหุ้น เข้า mai ปลายปีนี้
เอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทมาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (“MCA”) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัตินับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย MCA เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.09% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในหมวดธุรกิจให้บริการ (SERVICE) ภายในปี 2566
“MCA” เป็นหนึ่งในผู้นำในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และเป็นผู้ให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่ครบวงจร ผ่านรูปแบบของกิจกรรมการตลาดภาคสนาม (Field Marketing) ที่ตอบโจทย์ทุกกิจกรรมทางการตลาดให้กับกลุ่มลูกค้าได้ครบทุกมิติ ตั้งแต่การเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) การสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้อุปโภคบริโภค (Customer Engagement) ตลอดจนการผลักดันยอดขาย (Boost Sales) ภายใต้การให้บริการ
1.บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล (Marketing activities and Digital) โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบูธสินค้า และการจัดโรดโชว์สินค้า(Booth and Roadshow) และการจัดงานอิเว้นต์ (Event) เพื่อสนับสนุนการนำเสนอและสร้างการรับรู้ในสินค้า(Brand Awareness)
2.บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า (Packing and Logistic) ให้บริการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการขาย เช่นสินค้าตัวอย่าง สินค้าทดลอง และสื่อประชาสัมพันธ์ มาบรรจุลงบรรจุภัณฑ์และขนส่งสินค้าในรูปแบบพร้อมขายไปยังจุดจำหน่ายต่าง ๆ พร้อมทั้งบริการติดตั้งและการรื้อถอนบูธแสดงสินค้า
3.บริการพนักงานแนะนำสินค้า (Product Consultant) โดยแนะนำ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้า รวมถึงนำเสนอรายการส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจซื้อ และผลักดันยอดขายสินค้าให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการพนักงานแนะนำสินค้าแก่ลูกค้าไปแล้วกว่า109 บริษัท รวมเป็นแบรนด์สินค้ากว่า 133 เครื่องหมาย
4. บริการจัดเรียงสินค้า (Merchandiser) ให้บริการพนักงานจัดเรียงสินค้า มีหน้าที่รับผิด ควบคุมดูแลสินค้าหน้าร้านให้เพียงพอต่อการขาย การตรวจสอบอายุของสินค้าหน้าร้าน การจัดเรียงสินค้าให้เป็นไป
ตามมาตรฐาน โดยตั้งแต่ปี 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการจัดเรียงสินค้าแก่ลูกค้าไปแล้วกว่า 49 บริษัท รวมเป็นแบรนด์สินค้ากว่า 53 เครื่องหมาย นอกจากนี้ MCA ยังมีฐานข้อมูลพนักงานผู้ให้บริการภายนอก(Outsource) มากกว่า 9,100 คน สำหรับการรองรับการให้บริการของธุรกิจ ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นายภักดี เหล่างาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย (“MCA”) เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ภายใต้การมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการกิจกรรมทางการตลาดและการสร้างสรรค์อย่างครบวงจร โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการและสร้างความสำเร็จร่วมกัน ด้วยความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งสู่การสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้นในอนาคต
“หัวใจหลักที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของ MCA คือ“ความเชื่อใจ วัดผลได้ อย่างมืออาชีพ “เพราะบริษัทฯเชื่อว่าระบบที่ดีจะสร้างผลงานที่มีคุณภาพ และทีมงานที่ดีจะสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือแรงขับเคลื่อนองค์กรสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ส่วนวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขยายธุรกิจสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ ในการเข้าไปเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) และรองรับการลงทุน ในสินทรัพย์ สำหรับการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบให้ครบทุกมิติมากขึ้น รวมทั้งเพื่อใช้ในการชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัทฯ ในอนาคต
สำหรับโครงการต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) นั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MCA กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายเข้าไปสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ ในDistributor เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจจำนวนน้อยราย จึงมองว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้
โดยที่บริษัทฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้อุปโภคบริโภค โดยจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าของสินค้า ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ (Product Introduction) จนถึงการที่สินค้าได้ไปอยู่ในมือผู้บริโภค (Off Take) ซึ่งการให้บริการดังกล่าวรวมไปถึงวางแผนสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) การใช้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการกิจกรรมทางการตลาด (Marketing Activation) รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงช่องทางขายต่าง ๆ (Distribution Channel) ซึ่งจะทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในช่องทางที่มากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้น สำหรับธุรกิจผู้จัดหน่ายสินค้า (Distributor) อยู่ที่ 5 – 15% จากแผนการให้บริการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบ Agent มุ่งเน้นเกี่ยวกับกลยุทธ์และกระบวนการขายเป็นหลัก ซึ่งบริษัทฯดำเนินการในนามตัวแทนของลูกค้า ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อให้สินค้าจัดจำหน่ายในช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ เช่น ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) โดยรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับจะอยู่ในรูปแบบ Distribution Fee หรือ Distribution Commission คล้ายกับการค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้า และอัตราค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องจะถูกอ้างอิงกับยอดขายสินค้าเป็นหลัก ซึ่งบริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้ (Scale Up) ด้วยทรัพยากรรูปแบบคล้ายเดิม และสามารถก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ได้ในอนาคต
2. รูปแบบ Principal เป็นการให้บริการแบบ Full Service โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการคำสั่งซื้อจากร้านค้าจากช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ เช่น ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ร้านค้าปลีกแบบ และร้านสะดวกซื้อ โดยบริษัทฯ เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า เข้ามาบริหารภายในคลังสินค้าของบริษัทฯ พร้อมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบการกระจายสินค้าหรือส่งมอบสินค้าให้แก่ร้านค้าในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย และรับชำระเงินจากการขายสินค้าในนามของบริษัทฯอย่างไรก็ดีรูปแบบบริการดังกล่าว ต้องการเงินลงทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับบริการรูปแบบ Agent เนื่องจากบริษัทฯ ต้องซื้อสินค้าจากลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้า บริหารจัดการคลังสินค้า ส่งมอบสินค้า และรับชำระเงินจากการขายสินค้า ด้วยตนเอง เสมือนเป็นเจ้าของสินค้า แต่ทั้งนี้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้ในการขายสินค้า และต้นทุนสินค้า ควบคู่กัน ดังนั้นการบริการรูปแบบ Principal บริษัทฯ สามารถสร้างอัตราผลกำไรได้เพิ่มขึ้นผ่านการบริหารจัดการกระบวนการของบริษัทฯ ที่มีประสิทธิภาพ ผนวกกับการเจรจาเงื่อนไขด้านราคาสินค้ากับผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งจะสามารถก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่มีประสิทธิภาพได้