“อนุสรณ์” คาดเฟดจะคงดอกเบี้ย ไว้ระดับปัจจุบัน 5.25-5.50% และ อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ หรือปรับขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สัปดาห์หน้านี้ เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี แม้มีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่ม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนส.ค.อยู่ที่ 3.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.6% เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ขึ้นไปสูงถึง 9.1% เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว
สะท้อนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงที่ผ่านมาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ผลดีระดับหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปสงค์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจร้อนแรง ตัวเลขการจ้างงานในตลาดแรงงาน และอัตราการว่างงานล่าสุดยังกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง
“ในการประชุมสัปดาห์หน้า 19-20 ก.ย. ธนาคารกลางสหรัฐ น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน คือ 5.25-5.50% และ อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ หรือปรับขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมคาดว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนนโยบายการเงินเข้มงวดจะดำเนินไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่เป้าหมาย 2% ซึ่งคาดการณ์จะเกิดขึ้นได้ในช่วงกลางปีหน้า และมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะต้องดำเนินการในลักษณะการใช้ “กฎ” (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้ “วิจารณาญาณ” (Discretionary Policy) หมายความว่า ผู้ทำนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงเป้าหมายของนโยบายโดยการตั้งเป้าหมายชัดเจน และระบุถึงเครื่องมือของการทำนโยบายด้วย เนื่องจากสามารถส่งผ่านผลของการทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการคาดการณ์ของภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคการลงทุนและภาคครัวเรือน
“ข้อได้เปรียบของนโยบายการเงินเมื่อเทียบกับนโยบายการคลัง หรือนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ คือ มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับตามพลวัตเศรษฐกิจ และตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโลกยังไม่คลี่คลายดีนัก สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน และนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อระบบธนาคารกลางเริ่มกระเตื้องขึ้น แต่อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ จะเกิดภาวะเงินตึงตัวจากปัญหาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโลกหรือไม่ และการดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการเงิน จะมีผลต่อภาวะเงินตึงตัวในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ได้
“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ขึ้นมาได้ในบางประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ต่อเงินทุนมีมากกว่าอุปทานของเงินทุน เป็นภาวะที่มีความต้องการสินเชื่อและเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเงินและสินเชื่อมีจำกัด ครัวเรือนและผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ขณะที่ในบางประเทศที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ธนาคารในประเทศก็ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวด ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง เกิดความยากลำบากในการหาเงินทุน” นายอนุสรณ์ ระบุ