GULF ทำสถิติใหม่กำไรพุ่ง 37% หวังปีนี้รายได้โตต่อเนื่อง ผลจาก IPP 1,500 เมกะวัตต์เดินเครื่อง ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 40%
ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า ประเมินรายได้รวมในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้ ซึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP โครงการที่ 2 ภายใต้ IPD ได้แก่ โครงการ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (1,200 เมกะวัตต์)
อย่างไรก็ตามจาเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบัน 9% เป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ยุโรป อเมริกา
ด้านผลการดำเนินงานในปี 2565 GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 101,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% จากปีก่อน และมี Core Profit เท่ากับ 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ที่เปิดดำเนินการในเดือนมีนาคม และตุลาคม 2565 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ที่ประเทศโอมาน ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 155 เมกะวัตต์ รวมเป็น 195 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นจาก 184 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง เป็น 352 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง ขณะเดียวกันยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ ภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation ที่เข้าลงทุนในเดือนก.ค. 2565 จำนวน 324 ล้านบาท รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH และกำไรจากการซื้อ THCOM รวมทั้งสิ้น 4,656 ล้านบาท
ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในปีนี้ เท่ากับ 20.6% ลดลงจาก 27.6% ในปี 2564 โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 266.02 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2564 เป็น 494.78 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 86% ขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5518 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็น 0.3986 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2565
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง 86% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าไปยัง กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 14% จึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 2565 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 11,418 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจาก 33.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็น 34.73 บาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด
ยุพาพิน กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2566 GULF มีแผนออกหุ้นกู้เพิ่มอีก1.5-2 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมและขยายธุรกิจ รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท