ไขข้อสงสัย…ทำไม เหรียญคริปโต Layer 2 ถึงน่าจับตาที่สุดในช่วงนี้? และเหรียญ Layer 2 มีอะไรบ้าง
คริปโทเคอร์เรนซีที่มีอยู่หลายสกุลนั้นส่วนใหญ่ต่างทำงานอยู่บนบล็อกเชนที่ปลอดภัยและโปร่งใส แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างความล่าช้าหากมีธุรกรรมเข้ามาพร้อมกันเยอะ ๆ Layer 2 จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จัก Layer 2 ว่าคืออะไร ทำไมถึงน่าสนใจ และเหรียญ Layer 2 มีอะไรบ้าง
Layer 2 คืออะไร?
Layer 2 คือเครือข่ายบล็อกเชนย่อยที่พัฒนาขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับ Layer 1 หรือบล็อกเชนหลัก ยกตัวอย่างเครือข่าย Polygon ซึ่งเป็น Layer 2 ให้กับ Ethereum ที่เป็น Layer 1
Layer 2 สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้กับ Layer 1 ได้โดยให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมบน Layer 2 แทน Layer 1 และเมื่อLayer 2 มีธุรกรรมเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง Layer 2 ก็จะทำการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลานั้น ๆ และสรุปออกมาเป็นข้อมูลชุดเดียว จากนั้น Layer 2 ก็จะส่งข้อมูลชุดนั้นไปบันทึกไว้บน Layer 1 นั่นจึงทำให้การทำธุรกรรมบนLayer 2 มีความเร็วที่สูงกว่า มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับความปลอดภัยในระดับเดียวกับLayer 1 ด้วยเช่นกัน
หากเทียบกับถนน Layer 1 ก็เหมือนถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่น Layer 2 ก็คือทางด่วนที่สร้างขึ้นเหนือถนนสายหลักอีกที การจราจรส่วนหนึ่งจึงสามารถเปลี่ยนไปใช้ทางด่วนแทนเพื่อประหยัดเวลาได้นั่นเอง
ทั้งนี้ เนื่องจาก Layer 2 ก็เป็นบล็อกเชนเหมือนกับ Layer 1 จึงมีการออกเหรียญของตัวเองออกมาเพื่อใช้งานภายในเครือข่ายและยังเป็นตัวสะท้อนความต้องการและมูลค่าของ Layer 2 นั้น ๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเครือข่าย Polygon ที่มีเหรียญ MATIC หรือ Arbitrum ที่มีเหรียญ ARB เป็นต้น
ทำไม Layer 2 ถึงน่าจับตา?
ข้อมูลจาก Messari ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกของบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับความเชื่อถือ ได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2023 ที่ผ่านมา ปริมาณที่ธุรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับ Ethereum กว่า 61% ต่างเกิดขึ้นบน Layer 2
นำโดยเครือข่าย Arbitrum ที่มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยวันละ 600,000 ธุรกรรม และมีมูลค่าที่ถูกล็อกไว้ในเครือข่ายหรือ Total Value Locked (TVL) สูงถึง 4.22 พันล้านดอลลาร์ ตามมาโดยเครือข่าย Optimism ที่ 1.27 พันล้านดอลลาร์
ไม่เพียงเท่านี้ Kunal Goel นักวิเคราะห์อาวุโสของ Messari ยังมองว่า “ในอนาคตปริมาณธุรกรรมของ Layer 2 อาจแซงหน้า Ethereum ในระยะยาวได้ เนื่องจากปริมาณบล็อกของ Ethereum อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อช่วงขาขึ้นของตลาดคริปโตในปี 2020 - 2021”
ขณะที่ Eliezer Ndinga หัวหน้าฝ่ายวิจัยจาก 21.co ยังมีมุมมองที่สอดคล้องกัน โดยระบุว่า “การเติบโตของ Layer 2 เป็นเทรนด์ที่เราคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถเปรียบ Layer 2 ได้เหมือนกับการอัปเกรด Bandwidth ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีความเร็วที่สูงขึ้นจนกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไปไม่ได้แล้วในปัจจุบัน”
ตัวอย่าง Layer 2 ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?
1.Arbitrum (ARB)
Arbitrum เป็น Layer 2 สำหรับบล็อกเชน Ethereum มีจุดเด่นที่การมีระบบนิเวศสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และสามารถเข้ากันได้กับ Ethereum นักพัฒนาจึงสามารถใช้สัญญา Ethereum ที่มีอยู่บนเครือข่าย Arbitrum ได้โดยไม่ต้องแก้ไขใด ๆ ทำให้ง่ายสำหรับการย้าย dApps และ DeFi ไปยัง Arbitrum ซึ่งจะช่วยลดภาระของ Ethereum ลงไปได้อีก
2.Optimism (OP)
Optimism คือเครือข่ายบล็อกเชน Layer 2 ของ Ethereum โดย Optimism ใช้ระบบที่เรียกว่า Optimistic Rollups (ORs) ในการยืนยันธุรกรรม มีหลักการทำงานคือ ทั้งเครือข่ายจะถือว่าทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายเป็นธุรกรรมที่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปตามชื่อ Optimistic (มองโลกในแง่ดี) ทำให้ข้อมูลธุรกรรมมีขนาดเล็ก สามารถรวบรวมส่งให้ Layer-1 ได้เยอะและเร็วยิ่งขึ้น
3.Polygon (MATIC)
Polygon เป็น Layer-2 ของ Ethereum ที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้ Ethereum รองรับฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดย Polygon ใช้ระบบ Consensus แบบ Proof-of-Stake ที่สามารถวางเหรียญ MATIC ค้ำประกันแลกกับโอกาสในการถูกเลือกเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมและรับรางวัลตอบแทนหากตรวจสอบธุรกรรมได้ถูกต้อง
สรุป
Layer 2 คือบล็อกเชนเครือย่อยที่ทำหน้าที่สนับสนุนและลดภาระให้กับ Layer 2 ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มจะเติบโตได้อีกในอนาคตท่ามกลางปริมาณความต้องการใช้บล็อกเชนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย Layer 2 ส่วนหนึ่งที่น่าจับตาได้แก่ Arbitrum (ARB), Optimism (OP) และ Polygon (MATIC) เป็น
อ้างอิง Bitkub Blog, Decrypt