แกะสูตรความสำเร็จ WINDOW จากบริษัท SME ก้าวสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาด SET

แกะสูตรความสำเร็จ WINDOW จากบริษัท SME  ก้าวสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาด SET
ที่อยู่อาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของเรา ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือประตู หน้าต่าง เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงตัวที่อยู่อาศัย และ Lifestyle ของเจ้าของบ้าน

 

บทความนี้ The Better จะพาไปรู้จักกับ บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW ผู้นำการผลิตประตู หน้าต่างสำร็จรูป ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ จัดจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศในหลากหลายแบรนด์ รวมถึงเจาะกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทเติบโตจากการเป็นบริษัท SME จนสามารถเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้

ธนินทร์ รัตนศิริวิไล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW กล่าวว่า ประตู หน้าต่างถือเป็นปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดก็ตาม หรือเศรษฐกิจจะย่ำแย่แค่ไหน แต่ผู้คนยังต้องการที่อยู่อาศัยเหมือนกับอาหารและยารักษาโรค ถึงแม้ธุรกิจของบริษัทฯอาจจะไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจบางประเภท แต่ถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดระยะเวลา 10 ปี 

หากดูผลประกอบการย้อนหลังของ WINDOW พบว่ามีกำไรสุทธิมาโดยตลอดถึงแม้ 2 ปีที่ผ่านมาจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม โดย ปี 2563-2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 747.50 ล้านบาท, 835.51 ล้านบาท และ 913.35 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 73.10 ล้านบาท, 99.28 ล้านบาท และ 74.52 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 526.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 42.05 ล้านบาท 


หลัก 4 M ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด

ปัจจัยสำคัญที่ให้  WINDOW ASIA ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องของยอดขาย ส่วนแบ่งทางตลาด (Market Share) การจัดจำหน่ายในตลาดค้าปลีก ไม่ว่าจะป็นตลาดแบบ Modern Trade และตลาด Traditional Trade   เนื่องจากสินค้าของบริษัทฯมีดีไซน์ที่สวยงาม ทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภค และยังมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้เลือก ทั้งยังมีนโยบายรับประกันสินค้าตลอดอายุการใช้งาน ขณะเดียวกันบริษัทฯยังมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ทั้งเครื่องจักร ไลน์ออโตเมชั่น การวางกระบวนการไลน์การผลิต รวมถึงเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ 

"เราให้ความสำคัญกับ 4 M ได้แก่ วัตถุดิบ (Material) เครื่องจักร (MACHINE) วิธีการ (Methods) และ คน(MAN) ถ้า 4 M ไม่ดีเราก็ไม่สามารถทำสินค้าให้ออกมามีคุณภาพได้ เพราะฉะนั้น 4 M จึงถือเป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าบริษัทเราจะเป็นผู้นำในเรื่องของการผลิตจริง ๆ และครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนาน" ธนินทร์ กล่าว 


เตรียมเข้าตลาด SET พร้อมกลับมารุกตลาดต่างประเทศอีกครั้ง

ธนินทร์ กล่าวถึงการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่าบริษัทฯนั้นมีการพูดคุยและเตรียมตัวมา 4-5 ปี และมีการเปลี่ยน CFO มาหลายคน เนื่องจากเดิมที่ WINDOW ASIA เป็นบริษัทขนาด SME ไม่ได้เข้าใจเรื่องของความเป็นสากลมากนัก ยอมรับว่าช่วงแรกมีความยากลำบากในการปรับตัว บุคลากร รวมถึงระบบเอกสารภายในมากพอสมควร แต่ปัจจุบันผลย้อนกลับมาในสิ่งที่พยายามมาโดยตลอด จนตอนนี้ WINDOW ASIA สามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทฯมีความพร้อมในแง่มุมของการเป็นบริษัทที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะทำให้บริษัทฯก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างภาคภูมิใจ  เพื่อมุ่มสู่ความเป็น  TOTAL SOLUTION ของ WINDOWS AND DOOR SYSTEM จริงๆ 

โดย บริษัทฯเปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 244.20 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.10 บาท ซึ่งมีการเปิดให้จองซื้อหุ้นในระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2566 ปรากฏว่าหุ้น WINDOW ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซื้อหุ้นหมดทั้งจำนวนในเวลาอันรวดเร็วและเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566

สำหรับแผนสร้างการเติบโตของธุรกิจหลังจากเข้าตลาดหุ้นบริษัทฯจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในสามส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การขยายและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 2. คืนเงินกู้ยืม 3. เงินทุนหมุนเวียน และมีแผนเข้าไปในส่วนภาคเซอร์วิส ด้วยการจำหน่ายสินค้าพร้อมติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีการทำเดโม่แอปพลิเคชั่นขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมของประตู หน้าต่าง โดยภายในนั้นจะมีทั้งผู้รับเหมา เจ้าของบ้าน หากลูกค้าต้องการเซอร์วิสแบบใดก็สามารถเข้ามาหาข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าวได้ 

นอกจากนี้ ยังมีแผนกลับไปรุกตลาดต่างประเทศแบบเดิม หลังจากที่ถูกชะลอไปในช่วงโควิด-19 โดยจะเดินหน้าหาพันทมิตรใหม่ และนำเข้าสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเข้ามาเติมให้พอร์ตมีสินค้าครบวงจรมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการหารือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ

"ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้าต่างในรูปแบบไหน เซกเมนต์ไหน เราเองมีโรดแมพ มีแผนการดำเนินงานที่จะทำ เพราะฉะนั้นอยากให้เห็นว่ายังมีตลาดอีกมากกว่า 90% ที่เรายังไปไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นตลาดอุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ งานโปรเจคต่างๆที่เรายังไม่ได้รับรู้รายได้ หรือรายได้จากงานการติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันเราได้เริ่มแล้วในเรื่องของการขายของพร้อมติดตั้ง หรือแม้แต่ตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาพันทมิตรทางการค้าที่จะทำให้ WINDOW ASIA  มีสินค้าเข้ามาในพอร์ตแบบครบถ้วนมากขึ้น" ธนินทร์ กล่าว

สำหรับปัจจุบันบริษัทฯ มีร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ วางจำหน่ายรวมกว่า 653 แห่ง และสำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายทางตรงนั้น บริษัทฯ ได้จัดตั้งร้านค้าวินโดว์ เอเชีย ซึ่งเป็นร้านค้าของตนเองที่มีจำนวน 42 สาขาทั่วประเทศ โดยเช่าพื้นที่โครงการของไดนาสตี้ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าของตนเองและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มาใช้งาน ซึ่งบริษัทฯ มีแผนงานที่จะขยายสาขาร้านค้าวินโดว์ เอเชีย ให้ครบ 50 สาขา ภายในปี 2566

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังมีวางจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ (Online) ของบริษัทฯ บนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เช่น หน้าเว็บไซต์ (Website) เฟซบุ๊ก (Facebook) บัญชีไลน์ ออฟฟิเชียล (LINE Official Account) ลาซาด้า (Lazada)  ช้อปปี้ (Shopee) และน็อคน็อค (NocNoc)

TAGS: #WINDOW #WINDOWASIA