เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะ
ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด ดูแลทารกกลุ่มเสี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อพัฒนาการที่สมวัยและสมบูรณ์ และเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นวันทารกคลอดก่อนกำหนดโลก หรือ ‘World Prematurity Day’ เพื่อให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครอง ได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนด และสามารถเตรียมพร้อมรับมือในการดูแลทารกที่คลอดกำหนดให้เติบโตอย่างปลอดภัย มีพัฒนาการสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์

ภาวะคลอดก่อนกำหนด คือ ภาวะที่เด็กเกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ (หรือประมาณ 8 เดือน) โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่ามีทารกถึง 13.4 ล้านคนทั่วโลกที่เกิดก่อนกำหนดในปี 20201 และสำหรับประเทศไทย พบอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนดเฉลี่ยประมาณ 8-12% หรือราว 80,000 รายต่อปี ภาวะคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนและมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป 

แต่ปัจจัยบางประการอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว เช่น ผู้เป็นแม่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด การตั้งครรภ์แฝด (แฝดคู่ แฝดสาม ฯลฯ) หรือความเสี่ยงจากโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ไปจนถึงภาวะครรภ์เป็นพิษจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะหรือเยื่อหุ้มรก หรือจากภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นต้น
 
เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนด พบข้อมูลทารกคลอดก่อนกำหนดมากกว่า 1 ใน 10 คนทุกปี1 อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนดอยู่ เช่น มีการตีพิมพ์รายงานที่ระบุว่า “แม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ในเดือนพฤษภาคมจะมีแนวโน้มการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าถึง 10%” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่พบความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างช่วงเวลาที่เกิดการปฏิสนธิกับภาวะคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด

อีกทั้งยังพบความเชื่อที่สนับสนุนการคลอดก่อนกำหนด สะท้อนจากสถิติคำค้นหาที่พบมากที่สุดคำถามหนึ่งเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนดว่า "ทำไมการคลอดลูกที่อายุครรภ์ 7 เดือน ถึงดีกว่าตอน 8 เดือน?” ซึ่งล้วนเป็นความเข้าใจที่ผิดและส่งผลกระทบต่อทารกโดยตรง เพราะตามหลักการแพทย์แล้ว ยิ่งทารกเกิดเร็วกว่ากำหนดเท่าไร

ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การมีอายุครรภ์ที่ครบกำหนดหรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป คืออายุครรภ์ที่ปลอดภัยและดีกับทารกมากที่สุด

นอกจากนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่าการคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะที่ร้ายแรง แต่ที่จริงแล้ว มีเด็กคลอดก่อนกำหนดอีกจำนวนมากที่สามารถเติบโตและพัฒนาร่างกายได้อย่างสมบูรณ์หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ดังนั้น เพื่อขจัดความสับสนและหลีกเลี่ยงชุดข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผู้ปกครองที่มีคำถามหรือข้อกังวล ควรขอคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น การปรึกษากุมารแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง


 
การดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด
1. ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ระหว่างที่ทารกอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายกำลังพัฒนา ทั้งขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือเมื่อได้กลับบ้านแล้ว ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด คอยสังเกตและรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือหากพบความผิดปกติใดๆ ต้องรีบแจ้งแพทย์โดยทันที

2. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นมแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกเนื่องจากมีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ และอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและอวัยวะที่สำคัญ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและป้องกันอาการป่วยจากโรคต่างๆ ที่พบบ่อยในเด็ก 

ดังนั้น เมื่อได้รับอนุญาตจากแพทย์แล้ว ควรพยายามให้นมแม่กับลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีธรรมชาติหรือผ่านขวดนม ทั้งนี้ หากหลังคลอดแล้วน้ำนมยังไม่มาหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ ธนาคารนมแม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือสามารถใช้นมผงสูตรสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับทารกได้เช่นกัน

3. ระมัดระวังการติดเชื้อ
หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลของเด็กกลุ่มนี้คือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องทารกจากเชื้อก่อโรคต่างๆ รวมถึงไวรัสอย่าง RSV อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสลูก รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงการให้ลูกเข้ารับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามแนวทางและคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กทั่วโลก ไวรัสชนิดนี้มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า 60% ในเด็ก และถึงแม้อาการส่วนใหญ่ของ RSV จะไม่รุนแรง ลักษณะคล้ายหวัดทั่วไป มีไข้ ไอ และคัดจมูก แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ไวรัส RSV ถือเป็นหนึ่งในไวรัสตัวร้ายที่น่ากังวล

4. เตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อยกลับบ้านด้วยพลังบวก
แม้ลูกน้อยจะยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด หรือ NICU (Neonatal Intensive Care Unit) แต่เมื่อได้รับอนุญาตจากทีมแพทย์ให้เข้าเยี่ยมแล้ว ควรใช้เวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างความผูกพันและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

ในขณะเดียวกัน ครอบครัวควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่ทารกกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่าคนอื่นๆ นอกจากนี้ครอบครัวและตัวคุณแม่เองสามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ศึกษาวิธีการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด การเสริมสร้างพัฒนาการ รวมถึงแนวทางการรักษาที่อาจจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดูแลลูกน้อย

ภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก โดยภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก เนื่องจากอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

เด็กกลุ่มนี้จึงเปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่า เช่น ภาวะหายใจลำบาก ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ ได้ง่ายและมีอาการรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

TAGS: #คลอดก่อนกำหนด #ทารก #แม่