เด็กไทยช่วงปฐมวัยเสี่ยงพฤติกรรม “คล้ายออทิสติก” มากขึ้น

เด็กไทยช่วงปฐมวัยเสี่ยงพฤติกรรม “คล้ายออทิสติก” มากขึ้น
พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.เผยปัจจุบันพบว่า เด็กปฐมวัยมีความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก หรือเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เพิ่มมากขึ้น 

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกคืออะไร

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น การให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One – Way Communication หรือการรับสารเพียงทางเดียวจึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม

ส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กถูกปล่อยให้ใช้เวลาอยู่กับเล่นแท็บเล็ตหรือมือถือมากจนเกินไป ไม่เล่น ไม่คุยกับลูก ส่งผลให้เด็ก“ขาดการกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางทำให้เด็กเกิดความผิดปกติทางการสื่อสารและพัฒนาการทางด้านสังคม

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกยิ่งรู้ไว ยิ่งหายเร็ว สามารถหายขาดและหายไวได้ถ้ารู้โดยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่พบว่ามีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกถ้าทำการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน และกลับมาเป็นเด็กปกติได้

เด็กในช่วงปฐมวัย (แรกเกิดถึงอายุ 4 ปี) พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องคอยสังเกตพัฒนาการทางภาษาว่าเป็นไปตามช่วงวัยหรือไม่

ช่วงอายุ 1 ขวบ เด็กในช่วงวัยนี้ควรพูดเป็นคำ ๆ ได้ เช่น พ่อ แม่  ป๋า ม๊า หม่ำ สามารถเลียนแบบเสียงได้ มีการหันหาเสียงเรียก จดจำเสียงของคนเลี้ยงได้ มีโต้ตอบ เข้าใจความหมายง่ายๆ เช่น บน ล่าง ข้างๆ

เด็กอายุ 2 ขวบ สามารถสื่อสารได้มากขึ้น สามารถใช้คำที่แตกต่างได้ถึง 50 คำ เช่นคำว่า กิน ตายาย น้ำ ข้าวเป็นต้น สามารถพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ เช่น ไปเที่ยว กินนม หรือใช้คำสรรพนามเรียนแทนได้ เช่น เขา หนู ฉันรู้จักจดจำและแยกแยะอวัยวะในร่างกายได้ รู้ว่าส่วนไหน คือ ตา หู จมูก เป็นต้น

ช่วงอายุ 3 ขวบ สามารถพูดประโยคสั้น 3-4 คำได้ และเลือกใช้คำสำคัญๆ ที่จะสื่อ รู้จักเลือกใช้คำ มีคำศัพท์ในหัวมากขึ้น เข้าใจและสามารถตอบโต้ได้ดี

ช่วงอายุ 4 ขวบ ถือว่าเป็นเด็กที่โต พัฒนาการด้านภาษาควรพร้อมที่จะเรียนรู้และสื่อสารกับผู้อื่นได้ สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ และชัดเจน จำแนกสี รูปร่าง ตัวอักษรได้ บอกเวลาเช้า กลางวัน และเย็นได้ เข้าใจประโยคคำสั่ง ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ทำตามขั้นตอนได้ และสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เช่น หนูอยากออกไปเล่นกับเพื่อน หนูปวดฉี่อยากไปห้องน้ำ เป็นต้น

TAGS: #ออทิสติก #ออทิสติกเทียม #คล้ายออทิสติก