โครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ ช่วยผู้สูงอายุและผู้ป่วยบำบัดอาการได้อย่างต่อเนื่อง
ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีประชากรรวม72 ล้านคน โดยมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 หรือประมาณ 14 ล้านคน หมายความว่าในประชากรทุกๆ 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการให้บริการสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง มีปัญหาในการเคลื่อนไหวและการดูแลตัวเอง
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผนวกกับนวัตกรรมด้านการแพทย์และการสื่อสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนา ‘อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด (Smart Breath)’ เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจได้สำเร็จ จนสามารถคว้ารับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากงานThe 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
โดยจุดเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้ คือการนำศาสตร์ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูปอดได้ด้วยตัวเอง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยตัวเครื่องจะมีส่วนเมาท์พีซให้ผู้ป่วยเป่าลมเข้าเครื่อง และข้อมูลจะถูกแปรผลและส่งไปยังแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถบันทึกข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ สำหรับข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลจากการวิเคราะห์ความแข็งแรงของปอดผ่านปริมาณลมที่เป่าเข้าเครื่องในแต่ละวินาที โดยการเป่าลมเข้าเครื่องเพื่อวัดผลนั้นจะมีการกระตุ้นผ่านเกม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสนุก ไม่เครียดกับการทำการฟื้นฟู และเห็นพัฒนาการจากกิจกรรมการฟื้นฟูของตนเองได้ด้วย
นอกจากจะช่วยฟื้นฟูปอดของผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจให้กลับมาแข็งแรงหายใจได้เต็มปอดแล้ว ยังช่วยให้ระบบนิเวศสาธารณสุขไทยหายใจได้คล่องขึ้นอีกเช่นกัน เพราะเมื่อผู้ป่วยสามารถทำกายภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ในทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล คุณหมอและพยาบาลก็สามารถเข้าถึงผู้ป่วยอื่นๆ ได้มากขึ้น ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดระบบการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน จากฝีมือนักวิจัยชาวไทยเพื่อคนไทยด้วยกันเองอย่างแท้จริง
วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อพัฒนาระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้แพทย์และนักกายภาพบำบัดสามารถต้ดตามการทำกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยเรื่องปัญหาการขาดแคลนนักกายภาพบำบัดและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ในโครงการยังมีโปรแกรมที่ช่วยติดตามผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่รับการกายภาพบำบัดทั้งหมด 4 อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ คือ ระบบประมวลผลภาพสำหรับการวัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่ ระบบประมวลผลภาพสำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูปริมาตรปอด ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารกล้ามเนื้อหัวใจ และรับบติดตามอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า
เนื่องจาก 4 อาการข้างต้นคืออาการที่พบเยอะที่สุดในการเข้ารับการทำกายภาพบำบัด ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องเข้ารับการผ่าตัด การติดตามการทำกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการรักษา การบำบัดไม่ต่อเนื่องของผู้ป่วยทำให้อาการหายช้า อุปกรณ์เชื่อมต่อเหล่านี้จึงเป็นตัวช่วยสำคัญ ทั้งยังละเอียดแบะสามารถวินิจฉัยได้เจาะจงมากยิ่งขึ้น