อากาศหนาวมาแล้ว! ระวังโรคระบาดที่ตามมา

อากาศหนาวมาแล้ว! ระวังโรคระบาดที่ตามมา
วันสองวันนี้หลายคนคงสัมผัสอากาศหนาวกันได้แล้ว เมื่ออากาศหนาวเย็น อุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อสุขภาพและอาจเกิดแนวโน้มของการเจ็บป่วยด้วยจากภัยหนาว

กรมควบคุมโรคเตือน โรคติดต่อที่อาจเกิดในช่วงฤดูหนาวได้แก่ โรคหัด ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก เป็นต้น ในส่วนของภัยต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดในช่วงหน้าหนาวได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว การสูดดมก๊าซพิษ และขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซ และการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด

โรคหัด (Measles) เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบเชื้อบริเวณในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลุ่มอายุ 20-39 ปี ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนหัดหรือไม่แน่เว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน และพบผู้เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 7 เดือนถึง 2 ปี 6 เดือน ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนช่นกันโดยผู้ป่วยทุกรายมีภาวะแทรกซ้อนคือ ปอดอักเสบ

การติดต่อ สามารถติดต่อโดยการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหัดจากการไอ จามหรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย

อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีใข้ น้ำมูกไหล ไอ บางรายมีตาแดง ถ่ายเหลว มีจุดขาว ๆ เล็ก ๆ ที่กระพุ้งแก้ม หลังจากมีไข้ประมาณ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นมักเริ่มจากใบหน้าบริเวณชิดขอบผมและร่างกาย เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 1-2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ส่วนใหญ่ผื่นจางหายไปประมาณ 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและสมองอักเสบได้

การป้องกัน โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 สำหรับเด็กแนะนำให้ฉีดสองเข็ม เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย

โรคปอดอักเสบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ปอดบวม" สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาการรุนแรงมักพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาระภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ 

โดยเชื้อก่อโรคที่สำคัญ ได้แก่เชื้อ Streptococcus pneumonia เชื้อ Haemophius influenza type b เชื้อ Chlamydia pneumonia และเชื้อ Mycoplasma pneuimonia

การติดต่อ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายได้โดยการไอจาม หรือการหายใจรดกัน

อาการ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็วอาจมีการหอบ หายใจลำบาก เหงื่อออก หนาวสั่น บางรายอาจมีอาการซึม มีความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ 

เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนม หรือน้ำ ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัด ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑ ปี และผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วยปอดอักแสบหรือผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอยอล์เจล ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ และควรฉีดวัคนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza vius) กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กลุ่มแรกเกิด - 5 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ ในกลุ่มผู้เสียชีวิตพบได้ตั้งแต่อายุ 1-15 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว มักพบการกระบาดเป็นกลุ่มก้อนพบได้มากในสถานที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด เช่น เรือนจำ สถานศึกษา เป็นต้น

การติดต่อ ติดต่อโดยการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วยหรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

อาการ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการรุนแรงเกิดภาวะปวดบวม หรือสมองอักแสบได้

การป้องกัน แนะนำให้ประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการไข้หวัด โดยเฉพาะในสถานที่ที่มี

ผู้คนอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ควรมีมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วย หากสังเกตพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้หยุดเรียนหรือหยุดงาน กรณีมีไข้หากกินยาลดไข้แล้ว อาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน สามารถพบได้ตลอดทั้งปี เกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารเคมีแต่ในช่วงฤดูหนาวนี้เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ได้แก่เชื้อไวรัส เช่น โรตาไวรัส โนโรไวรัส ชาโปรไวรัส อะดีโนรัส แอสโปรไวรัส ฯลฯ โดยเฉพาะโรตาไวรัส (Rota virus) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและทำให้เด็กเสียชีวิตได้ มักพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 1-3 ปี

การติดต่อ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรตาไวรัส

อาการ มักมีไข้ อาเจียน อุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำมาก บางรายรักษาไม่ทันอาจช็อคและเสียชีวิตได้ในที่สุด ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง และให้น้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน

การป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขอนามัยอาหารและน้ำ ควรรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำต้มสุก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่เด็กจะเกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หรือถ่ายลงในภาชนะที่รองรับมิดชิดแล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย หมั่นล้างมือ และทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ 

หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่แออัด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรตาไวรัส แต่วัคซีนยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ ผู้ที่เคยป่วยสามารถเป็นซ้ำได้ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557 - 2561) ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ยปีละ 65,000 ราย สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย พบบ่อยกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 

แม้ในช่วงฤดูหนาวจะไม่ใช่ช่วงที่มีการระบาดของโรคสูงที่สุด แต่ในเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไป ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดอีกครั้ง

การติดต่อ สามารถติดต่อจากแหล่งที่มีเชื้อไวรัสโดยตรง เช่น สัมผัสผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใสหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือการสัมผัสทางอ้อม เช่น ของเล่น ราวจับบันได ลูกบิดประตู เป็นต้น

อาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ มีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม หรือมีผื่นแดง หรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกช้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ น้ำท่วมปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

การป้องกัน ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่จำเพาะและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การรักษาส่วนใหญ่เป็นแบบตามอาการป่วย พ่อแม่หรือผู้ปกครอง และครูจะต้องสังเกต อาการผิดปกติของบุตรหลาน และนักเรียน ถ้าพบว่าเด็กมีอาการสงสัยป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ

TAGS: #อากาศหนาว #โรคระบาด #ไข้หวัดใหญ่