เช็กลิสต์พฤติกรรม ย้ำคิดย้ำทำ เนี๊ยบเป๊ะ ไม่ปล่อยวาง บ้างานไม่พัก หรืออาการปวดหลัง ปวดหัวเรื้อรัง อาจมาจาก ”ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น”
ภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการซึมเศร้าออกมาให้เห็นเด่นชัด เกิดผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดได้ไม่น้อยกว่าโรคซึมเศร้า การเจ็บป่วยนี้ คือ “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” (Masked Depression)
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) มักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน ซ้ำยังรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ พูดจาทักทาย ยิ้มแย้มกับคนใกล้ชิดได้เหมือนไม่มีปัญหาอะไร แบบที่หลายคนพูดว่า ยิ้มให้คนทั้งโลกร้องไห้กับตัวเอง
แต่มักมีความวิตกกังวล ไม่มีความสุข พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง หลายคนไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเจ็บป่วยทางกาย แต่ก็ไม่พบความผิดปกติทางกายใดๆ อย่างชัดเจน
อาการทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมแบบ Perfectionist ชอบย้ำคิดย้ำทำหมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ เพราะในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง สงสัย และไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง จึงพยายามทุ่มเท ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี สมบูรณ์แบบที่สุดตามมาตรฐานเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และถ้างานไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง จะรู้สึกผิดหวังรุนแรง โกรธเกรี้ยวรุนแรง หงุดหงิดง่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล
อีกพฤติกรรมคือ Workaholic ทุ่มเทกับงานอย่างหนัก หามรุ่งหามค่ำ กดดันตัวเองอย่างหนัก ไม่ยอมพักผ่อนเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ที่สุด ในบางราย ความคาดหวัง หมกมุ่นเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมหรือปัญหาการนอนไม่หลับ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เหล้า สุรา ยานอนหลับ หรือสารเสพติด
สำหรับการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอาจมีความยุ่งยาก เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นจำนวนมากไม่ยอมรับว่าตนเองมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ มองว่าตนเองเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น จึงมักปฏิเสธการเข้าพบจิตแพทย์ และเลือกที่จะเก็บกดปัญหาเอาไว้
ดังนั้น การพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์เพื่อได้รับการช่วยเหลือ ต้องอาศัยคนใกล้ชิดที่ผู้ป่วยเชื่อถือ ไว้วางใจเข้าใจในตัวโรค และเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้ผู้ป่วยยอมรับการช่วยเหลือได้
สัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นทางร่างกาย
- อาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะปวดศีรษะ ปวดหลัง และปวดข้อ
- นอนหลับยาก
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็ว
- ปัญหาระบบทางเดินอาหาร
- ความเหนื่อยล้า
ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าซ่อนเร้น มักมีรายงานอาการทางสติปัญญาและพฤติกรรมด้วย รวมไปถึง
- ปัญหาในการใช้สมาธิ
- ความผิดปกติทางเพศ
- ขาดพลังงาน
- อุปสรรคในโรงเรียน
- การถอนตัวทางสังคม
ผลลัพธ์พร้อมการแก้ปัญหาขั้นต้น