ผู้ใหญ่ควรระวัง! ไอจามใส่เด็ก พบทารกเสียชีวิตจากโรคไอกรน

ผู้ใหญ่ควรระวัง! ไอจามใส่เด็ก พบทารกเสียชีวิตจากโรคไอกรน
สสจ.ปัตตานีพบ ผู้ป่วยไอกรนแล้ว 72 ราย กระจายในหลายอำเภอ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กทารกอายุ 18 วัน ซึ่งร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ป่วยไอกรนแล้ว 72 ราย กระจายในหลายอำเภอ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กทารกอายุ 18 วัน ซึ่งร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ได้รับเชื้อมาจากผู้อาศัยร่วมภายในบ้าน

กรมควบคุมโรคเผยว่า โรค ไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการ ไอเป็นแบบ paroxysmal ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค

ที่สำคัญ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอหรือจาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย มักพบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มาก 

โรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุ ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนได้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อคาดการณ์โรคที่จะระบาดในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อแจ้งไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.)แต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการออกประกาศแจ้ง 2 โรค คือ 

1.โรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน หรือ DPT ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานของเด็กเล็ก โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ขณะนี้พบข้อมูลการระบาดโรคไอกรนใน 3 จังหวัดชายใต้จำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย ในขณะที่ภาคอื่นๆ พบผู้ป่วยเพียง 1 – 2 รายเท่านั้น และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

2.หัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือ MMR เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานในเด็กโดยต้องฉีด 2 เข็มตามกำหนดก็จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า “ทางภาคใต้มีการติดเชื้อในผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงระบาดในเด็กด้วย ซึ่งมีการรายงานข้อมูลยืนยันว่ามีเด็กอายุ 18 วัน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไอกรนแล้ว 1 ราย และอีกรายยังอยู่ในระหว่างการยืนยันผล กรณีเด็กที่เสียชีวิตนั้น โดยปกติจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันในช่วง 2 เดือน แต่เมื่อคลอดมา 18 วันติดเชื้อ เลยทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต จากการสอบสวนโรคพบว่ามารดาของเด็กนั้น ไม่เคยรับวัคซีนไอกรนมาก่อน ทำให้ลูกที่คลอดออกมานั้น ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเลย เมื่อเด็กกลับไปถึงบ้านที่มีผู้ใหญ่ที่ติดเชื้ออยู่ ก็นำเชื้อมาสู่เด็ก” 

นพ.จักรรัฐกล่าวถึงสาเหตุหลักพบมากในภาคใต้ มาจากการไม่ฉีดวัคซีน “สาเหตุหลักที่เกิดการระบาดในภาคใต้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้มีอัตราการฉีดที่น้อยมากเพราะการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้ความครอบคลุมของวัคซีนในบางพื้นที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ขณะที่การป้องกันโรคที่ดี คนในพื้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80-90”

วิธีป้องกันโรคไอกรน นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การป้องกันโรคไอกรนนั้น การสวมหน้ากากอนามัยเหมือนโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการใส่วัคซีนเข้าในตัวเลย แต่ถ้ามีการติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การไปพบแพทย์ให้ทันเวลา วินิจฉัยให้ออกอย่างรวดเร็ว ป้องกันการติดเชื้อลงปอด

อ้างอิง 1 2 3

TAGS: #ไอ #จาม #โรคไอกรน #ทารก #โรคติดต่อ