กลั้นจามแบบบีบจมูก ปิดปาก จนหลอดลมฉีก เตือน กลั้นจามแบบนี้ เสี่ยงความดันในทางเดินหายใจสูงขึ้น 20 เท่า ชวนคนไทย รู้จักวิธีไอจามแบบปลอดภัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โพสต์ข้อความผ่านทางเพจ สสส. ระบุ หมอแชร์เคสอันตราย กลั้นจามแบบบีบจมูก ปิดปาก จนหลอดลมฉีก เตือน กลั้นจามแบบนี้ เสี่ยงความดันในทางเดินหายใจสูงขึ้น 20 เท่า ชวนคนไทย รู้จักวิธีไอจามแบบปลอดภัย
โดยพบรายงานว่า “กลั้นจามจนหลอดลมฉีก รายงานผู้ป่วยรายแรกของโลก”
เหตุการณ์ประหลาดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชายหนึ่งกำลังขับรถและทันใดนั้นเขาก็รู้สึกอยากจาม แต่แทนที่จะปล่อยให้เป็นการจามแบบปกติ แต่เขากลับกลั้นจามด้วยการบีบจมูกและปิดปาก
การกลั้นจาม ด้วยการบีบจมูกและปิดปาก จะทำให้ความดันในทางเดินหายใจส่วนบนสูงขึ้นกว่า 20 เท่าของความดันที่ปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการจาม ในกรณีของชายคนนี้ ความกดดันสูงมากจนทำให้หลอดลมของเขาฉีกขาด
ชายคนดังกล่าวได้เดินทางไปยังห้องฉุกเฉิน เขารู้สึกเจ็บบริเวณลำคออย่างรุนแรง คอของเขาบวมทั้งสองข้าง อย่างไรก็ตาม เขาไม่มีปัญหาใด ๆ ในการหายใจ การกลืน หรือการพูด
จากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) พบหลอดลมฉีกขาด ขนาด 2×2 มิลลิเมตร แพทย์สรุปว่าการฉีกขาดมีสาเหตุมาจาก “แรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลอดลมขณะจามโดยบีบจมูกและปิดปาก”
แพทย์วินิจฉัยว่าชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เขาถูกเฝ้าติดตามที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับออกซิเจนและสัญญาณชีพอื่น ๆ ของเขาคงที่ จากนั้นเขาก็ออกจากโรงพยาบาล พร้อมรับยาแก้ปวดและยาแก้ไข้ แพทย์ของเขายังบอกเขาด้วยว่าอย่าออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมากเป็นเวลา 2 สัปดาห์
การป้องกันอาการจาม
อาการจามมักเกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเข้าไปในจมูก ดังนั้น การป้องกันอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารที่ทำให้ระคายเคืองเหล่านั้น เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมที่อาจต้องสัมผัสฝุ่นควันหรือเกสรดอกไม้
ส่วนโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน โรคอาร์เอสวี และโรคซาร์ส ที่สามารถแพร่กระจายติดต่อกันได้จากการจาม ผู้ป่วยควรดูแลตนเองไม่ให้แพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น ดังนี้
- เมื่อจามควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกเอาไว้
- ทิ้งทิชชู่ที่ใช้ปิดปากและจมูกขณะจามหรือไอลงถังขยะให้เรียบร้อย
- หากในขณะที่จามไม่มีกระดาษทิชชู่ ควรใช้แขนส่วนบนปิดปากและจมูกเอาไว้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้มือ เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้มากกว่า
- ในระหว่างที่จามหรือไอบ่อย ๆ ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรืออาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาดมือ ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์
- หากกำลังป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยควรรักษาตัวแยกออกจากผู้อื่น หรือผู้ที่ไม่ได้ป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค