ปีใหม่ทั้งทีต้องมีลิสต์สิ่งที่อยากทำ อยากเป็นในปีถัดไป เราขอเสนออีก 1 ข้อนั่นก็คือ “เลิกวีน” เพราะความโกรธ วีนเหวี่ยงง่ายนั้น อาจนำมาซึ่งปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตได้
ความโกรธนับเป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามโดยสัณชาตญาณรูปแบบหนึ่งเพื่อความอยู่รอด ความโกรธนั้นจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตก็ต่อเมื่อเราควบคุมมันไม่ได้ ทำให้หลายครั้งเราพูด หรือทำในสิ่งที่จะเสียใจในภายหลังลงไป
เว็บไซต์ Healthline เผยผลการศึกษาปี 2010 พบว่าความโกรธที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้นไม่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังสามารถลุกลามไปสู่ความรุนแรงทางวาจาหรือทางกาย ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือแม้กระทั่งตัวเอง
มีหลายสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความโกรธ ทั้งความเครียด ปัญหารุมเร้าทั้งครอบครัว การเงิน บางคนความโกรธเกิดจากฌรคประจำตัว เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือ ภาวะซึมเศร้า และความโกรธยังเป็น 1 ในอาการของสุขภาพจิตหลายประการ
ยกตัวอย่าง อาการจิตตก หดหู่ โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน ไบโพลาร์ ภาวะระเบิดอารณ์ชั่วคราว โรคบุคลิกภาพแปรปรวน เป็นต้น
ประเภทปัญหาความโกรธ
ความโกรธไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ความโกรธสามารถแสดงออกมาได้หลายวิธี อาจเป็นภายนอก ภายใน หรือการนิ่งเฉย
ภายนอก การแสดงความโกรธและความก้าวร้าวอย่างชัดเจน ซึ่งอาจรวมถึงพฤติกรรมต่างๆ เช่น การตะโกน การสาปแช่ง การขว้างปา ทำลายสิ่งของ หรือการดูหมิ่นผู้อื่นทางวาจาหรือทางร่างกาย
ภายใน ความโกรธประเภทนี้มุ่งเป้าไปที่ตัวเอง การพูดถึงตัวเองในแง่ลบ การปฏิเสธตัวเองในสิ่งที่ทำให้มีความสุข หรือแม้แต่ความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร การทำร้ายตัวเองและการแยกตัวเองออกจากผู้อื่น
นิ่งเฉยๆ การแสดงความโกรธที่ละเอียดอ่อนและใช้ทางอ้อม ตัวอย่างของพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่โต้ตอบ ได้แก่ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเงียบๆ การบึ้งตึง การเหน็บแนม และการพูดจาเยาะเย้ย
จากบทความของเว็บไซต์ iStrong Mental Health แนะนำวิธีควบคุมอารมณ์โกรธดังนี้
1. ใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ การจินตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อให้ความโกรธของคุณลดลง
2. ปรับมุมมองความคิด บางครั้งเราเผลอใช้คำที่รุนแรงแรงออกไป โดยคำพูดเหล่านั้นก็มักจะสะท้อนภาพความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพื่อที่จะปรับคำพูดหรือพฤติกรรมของตนเอง ฝึกทดแทนความคิดที่เคยเป็นไปในทางลบด้วยการคิดเชิงบวกมากขึ้น
3. ฝึกทักษะการแก้ปัญหา หลายครั้งความโกรธเกิดจากการตกอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกหนีไม่ได้ การฝึกทักษะการแก้ปัญหาโดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าเอาไว้ ก็จะช่วยให้สามารถจัดการกับสิ่งที่มันเกิดได้
4. ฝึกทักษะการสื่อสาร บางครั้งคนเราก็มีความโกรธเพราะมีความรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกว่าทำไมคนอื่นไม่ได้ดั่งใจ ทำให้รู้สึกโกรธเพราะความรู้สึกไม่พอใจ หากมีการสื่อสารและรับฟังคนอื่นมากขึ้น ทำให้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น และโกรธน้อยลง
5. ใช้อารมณ์ขัน เพราะการ “ตึง” กับตัวเองมากไปก็สามารถทำให้กลายเป็นคนโกรธง่ายหรือขี้โมโหได้ การใช้อารมณ์ขันจะต้องออกมาจากความรู้สึกข้างในจริง ๆ สิ่งที่คุณอาจต้องฝึกควบคู่กันไปก็คือการฝึกมีเมตตาต่อตัวเอง ให้อภัยตัวเองในวันที่ทำพลาด และโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองบ้าง ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นไม่ใช่ในแบบที่อยากจะเป็น
6. ไปพบนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา เมื่อความโกรธถึงจุดที่กระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ลองไปพบนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาเพื่อพูดคุยและค้นหาสาเหตุว่าเพราะอะไร จะได้แก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง