การชวนไปดูภาพยนตร์ถือเป็นแผนแรกๆสำหรับคู่รัก หลายคนวางแผนถึงขั้นชุดที่จะใส่ เวลาที่ไปดู แต่อยากให้รู้ไว้ว่าประเภทภาพยนตร์ที่เลือกก็ส่งผลต่ออารมณ์ของอีกฝ่ายเช่นกัน
ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์รัก โรแมนติกที่จะทำให้เกิดความโรมานซ์ ติดตรึงใจสาวได้ แต่ภาพยนตร์สยองขวัญจะสร้างความทรงจำ และยังทำให้เกิดความโรมานซ์ได้เช่นกัน แน่นอนว่าเราจะต้องรู้สึกกลัว ขวัญผวาซะก่อน ภาพยนตร์สยองขวัญมีกลอุบายทางจิตวิทยาที่สร้างภาพลวงตาให้เราใจจดใจจ่ออยู่กับความอันตรายผ่านการจัดการภาพ เสียง และเรื่องราว แม้ว่าสมองจะตระหนักดีว่าภัยคุกคามนั้นไม่มีจริง แต่ร่างกายกลับพร้อมตั้งรับราวกับว่าเป็นเรื่องจริง
แซลลี่ วินสตัน นักจิตวิทยา กรรมการบริหารสถาบันโรควิตกกังวลและความเครียดแห่งแมริแลนด์ อธิบายว่า "เมื่อดูหนังสยองขวัญหัวใจจะสูบฉีด อะดรีนาลีนพุ่ง และความสนใจสิ่งรอบข้างจะแคบลง แม้ว่าจะรู้ดีว่าอยู่ที่บ้านหรือในโรงภาพยนตร์และไม่มีอันตรายที่แท้จริง" สิ่งนี้คล้ายกับการนั่งเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุก ซึ่งเราจะรู้สึกหวาดกลัวในขณะเดียวกันก็รู้ว่าเราปลอดภัย
ภาพยนตร์สยองขวัญได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์บางอย่าง เช่น ความตึงเครียด ความกลัว ความเครียด และความตกใจ สิ่งเหล่านี้อาจทําให้เกิดการปล่อยฮอร์โมนในร่างกาย เช่น นอร์อะดรีนาลีน คอร์ติซอล และอะดรีนาลีนจากระบบประสาทอัตโนมัติ เมื่อลองสังเกตจะเห็นการตอบสนองทางสรีรวิทยาจากฮอร์โมนเหล่านี้โดยการขยายรูม่านตา อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น และมีความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
ผลจากหนังสยองเหล่านี้อยู่ในจิตใจคนดูนานแค่ไหนในหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก เขียนโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า งานวิจัยปี 1999 ในวารสาร Media Psychology ระบุว่า จากการศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 150 คนพบว่า มากถึงร้อยละ 90 ที่รู้สึกสยองขวัญไปกับหนังสยอง โดยมีถึงร้อยละ 26 ที่กล่าวว่า ยังมีร่องรอยความกลัวตกค้างถึงปัจจุบัน
อีกร้อยละ 52 กล่าวว่าสิ่งที่ซึมซับเข้าไปเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในหลายรูปปบบเช่น การทำให้นอนไม่หลับ ทานอะไรไม่ลง และ 1 ใน 3 พบว่ายังรู้สึกกลัวอยู่ในใจนานนับสัปดาห์ งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้รับชมภาพยนตร์หรือรายการสยองขวัญยิ่งอายุเท่าไหร่ ผลตกค้างด้านอารมณ์ยิ่งยาวนานมากขึ้นเท่านั้น
ในทางกลับกันภาพยนตร์หรือรายการสยองขวัญไม่เพียงแค่ส่งผลร้าย ในงานวิจัยปี 2010 วาราสาร Behavioral Ecology โดยทีมนักวิจับสหรัฐที่ได้วิจัยนกชนิดหนึ่งคือ นก splendid fairy-wren ในออสเตรเลีย นกตัวผู้จะมีพฤติกรรมประหลาดคือ หากได้ยินนักล่าศัตรู butcherbird ร้องใกล้ๆ มันจะร้องเลียนเสียงประกบตามไปในทันทีทำให้นกตัวเมียสามารถตั้งท่าหลบการล่าของนกนักล่าได้
แน่นอนว่าการที่ส่งเสียงหวาดหวั่นสยองขวัญนั้นทำให้นกตัวเมียตกหลุมรักนกตัวผู้ดังกล่าวมากกว่าตัวผู้อื่นๆที่ไม่ได้ส่งเสียง เสมือนว่าการกระทำประหลาดนั้น ไปกระตุ้มความโรมานซ์ของนกตัวเมียให้ซาบซึ้งในความเท่ของมัน
การค้นพบดังกล่าวทำให้เราทราบได้ว่าเรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นกับคนเราเช่นกัน บรรยากาศทะมึนทึมๆ ในโรงภาพยนตร์และหนังสยองขวัญนั้นเป็นตัวเร้าอารมณ์ขึ้นดีสำหรับคู่รักที่ไปออกเดต หรือช่วยให้หนุ่มๆที่กำลังจีบสาวได้อย่างดี หนำซ้ำยังดียิ่งกว่าการชวนคู่เดตไปดูภาพยนตร์รักรอมคอมโรแมนติก ที่เรามักเข้าใจว่าจะช่วยเพิ่มความโรมานซ์ให้ได้ แต่ความจริงแล้วหนังรักนั้นเทียบหนังสยองขวัญไม่ติด เราเรียกผลกระทบนี้ว่า Scary Movie Effect