เพราะเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น สมองเรารับข้อมูลข่าวสารเยอะขึ้น แต่รับได้ที่ละน้อย ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งความสนุกในชีวิตออฟไลน์
เทคโนโลยีมีแต่พัฒนาไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ขยันออกรุ่นใหม่ พร้อมกับเทคโนโลยีที่เคลมว่าช่วยให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น ยังไม่รวมการพัฒนา AI (Artificial Intelligence) โดยปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ช่วยทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว
แต่งานวิจัยเผยว่ามีคนเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่เก่งพอจะใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน 98% ที่เหบือคือสับสน งงงวย จับต้นชนปลายยังไม่ถูก วุ่นวายจนประสิทธิภาพการทำงานลดลงซะด้วยซ้ำ
แถมพฤติกรรมคนยังเปลี่ยนไป รวมทั้งการพัฒนาของสมองดูเหมือนว่าจะถดถอยได้อีกด้วย หลายคงเริ่มมีอาการสมาธิสั้น ไม่จดจ่อ เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เราไม่ทันสังเกต คนอเมริกา 26% หรือ 1 ใน 4 คุยแชตไปดูทีวีไป 29% คุยโทรศัพท์ไปด้วย และกลุ่มที่มากที่สุด 42% เล่นอินเตอร์เน็ต ยังไม่พูดถึงการใช้อินเตอร์เน็ตในสถานการณ์ที่ไม่ควรเช่นในโรงภาพยนตร์ หรือระหว่างเดต
เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ส่งผลต่อสมองเราหรือไม่
ทุกวันนี้สมองของเรายุ่งมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ท่วมท้นในโลกอินเตอร์เน็ต ทั้งเรื่องจริงเรื่องหลอก ข่าวไร้สาระ ข่าวลือ แม้จะกวาดตามองผ่านๆแต่สมองเราก็ต้องเหนื่อยประมวลแล้วว่าอะไรจำเป็นต้องรู้ หรืออะไรที่ต้องรู้เหรอ?
แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องทำหน้าที่ต่างๆมากขึ้น หากในสมัยก่อนจะจองตั๋วเครื่องบิน เราแค่ให้พนักขายเป็นคนจัดการ ตอนนี้ละ เราต้องมานั่งหาเที่ยวบินเอง กรอกข้อมูลเอง จ่ายเงินเอง ถึงสนามบินแล้วยังต้องเช็กอินเอง โหลดกระเป๋าเอง ก็เทคโนโลยีมันอำนวยให้เราทำเองได้ซะขนาดนี้ ไม่ต้องต่อแถวอีกต่อไป พอมองย้อนกลับนี่เราทำหน้าที่แทนพนักงานอย่างต่ำ 3 คนไปแล้ว แถมยังต้องอัปเดตสเตตัสอีก
จะหาว่ามีแต่เรื่องแย่ก็ไม่ได้ เพราะความล้นหลามของข้อมูล และการเข้าถึงที่มากขึ้น สำหรับคนที่ปรับตัวได้นั้นถือเป็นข้อดี การที่มีซอฟต์แวร์อย่างกูเกิลช่วยค้นหาข้อมูลทำให้นักเรียน นักศึกษาต้องใช้สมองคิด วิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น ต้องทำความเข้าใจ และพิสูจน์ยืนยันนั้นทำให้ผลการเรียนของพวกเขาดีขึ้น
ในทางกลับกัน เพราะเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย สมองของเราจึงจำแต่สิ่งเล็กๆน้อยๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเรารู้แล้วว่า หากอยากได้คำตอบเรื่องใด ก็ค่อยหาในกูเกิลได้ งานวิจัยในวารสาร Science ระบุว่าการที่ผู้ทดลองบอกนักศึกษาว่าข้อมูลง่ายๆที่มห้จำไปนั้นจะถูกลบทิ้งไป หรือ อาจจะเซฟเก็บไว้ ส่งผลให้นักศึกษาตัดสินใจจะจดจำ หรือไม่จดจำได้อย่างเห็นได้ชัด เพราะคิดว่ามีเครื่องมือจดจำอยู่ ค่อยกลับมาดูได้วันหลัง
จากหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก เขียนโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์เมื่อสมองเริ่มคุ้นชินกับการรับข้อมูลยิบย่อยอย่างต่อเนื่อง ก็ยากที่จะมีสมาธิ หรือลึกซึ้ง กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ เพราะสมองชินกับข้อมูลชุดสั้นๆ
ศาสตราจารย์วิลเลียม เครมม์ นักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ยืนยันว่า ความคิดสร้างสรรค์ เกิดได้ก็ต่อเมื่อเราต้องรู้ เข้าใจ และจดจำข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการฝากหน้าที่ “การจำ” ไว้กับอุปกรณ์หรืออินเตอร์เน็ตไปเลยนั้นย่อมทำให้โอกาสเกิดความคิดสร้างสรรค์ลดลงไปด้วย
จุดกำเนิดคนขี้เบื่อ
ด้วยอัลกอริธึมอย่าง Tiktok ที่เน้นความบันเทิงอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน TikTok จึงมีพลังในการคลายความเบื่อได้แทบจะในทันที ทำให้ความสามาในการสร้างความบันเทิงให้ตัวเองโดยไม่ต้องใช้แอพลดลง จึงเกิดการพึ่งพาแอพที่เพิ่มขึ้น การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าแนวโน้มที่จะเบื่อหน่ายในเด็กและวัยรุ่นมีความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเสพติดสื่อดิจิทัลมากขึ้น
สมองยังแสดงอาการกระหาย ที่จะได้รับการกระตุ้น ทั้งข้อมูลข่าวสาร เรื่องไร้สาระ เรื่องเก่าเรื่องใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายคือ การกระตุ้นดังกล่าวทำให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน หลั่งออกมาขณะที่เราตื่นเต้น การหยุดเล่นอินเตอร์เน็ต ทำให้ร่างกายหยุดหลั่งสารดังกล่าว ทำให้ชีวิตออฟไลน์ของใครหลายๆคน เลยรู้สึกน่าเบื่อ