การเกิดเป็นลูกสาวคนโต เปรียบได้กับการเป็นเด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนตลอดชีวิต จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบันที่เป็นพี่คนโตของครอบครัว มักจะมีช่วงเวลาที่ขมขื่นอยู่ไม่น้อย
การเกิดเป็นลูกสาวคนโต เปรียบได้กับการเป็นเด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนตลอดชีวิต ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวิตข้อความระบายความในใจ ของการเป็นลูกสาวคนโต รวมไปถึงติ๊กตอกที่มีผู้หญิงหลายคนบอกเล่าเรื่องราวการแบกรับภาระ ความหวัง หรือการที่ต้องเปรียบเสมือนพ่อแม่อีกคนของน้อง เกิดแฮชแท็ก #EldestDaughterSyndrome ซัพพอร์ตกลุ่มลูกสาวคนโตด้วยกันเอง
แต่การเป็นลูกสาวคนโตไม่ได้แย่เสมอไป มีผลงานวิจัยเผยว่า ลูกคนโตจะฉลาดกว่าน้องๆ เพราะลูกคนโตมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ในช่วงอายุ 4-13 ปีมากกว่าลูกคนรองถึง 3,000 ชั่วโมง หมายความว่าพ่อแม่จะมีเวลาเอาใจใส่ลูกคนโตมากกว่า เพจ ตามใจนักจิตวิทยา เผยลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect) อัลเฟรด แอดเลอร์ กล่าวว่า "พ่อแม่มักปฏิบัติและตอบสนองต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาเชื่อว่า เกิดจากลำดับการเกิดของลูกแต่ละคนนั่นเอง"
are u okay or are u the eldest daughter
— eula (@eulatales) May 19, 2022
โดยลูกคนโต เป็นลูกที่ได้รับความรักและความสนใจอย่างเปี่ยมล้นตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่มักใส่ใจเขามาก เพราะพ่อแม่เองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์มีลูกมาก่อน ทำให้ลูกคนแรกได้รับการประคบประหงม และดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ ทำให้ลูกคนโตมีแนวโน้มจะรักสะอาดและไม่ชอบสิ่งสกปรก
แต่เมื่อลูกคนโตกำลังจะมีน้อง เขาจะรู้สึกว่าน้องกำลังจะขโมยสิ่งเหล่านี้ไปจากเขา ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับพี่คนโตในเรื่องของการมาช่วยพ่อแม่ดูแลน้อง พี่คนโตอย่างเขาจะต่อต้านและปฏิเสธน้องโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกันหากพ่อแม่เตรียมเขาเพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลน้องแบบเดียวกับพ่อแม่ พี่คนโตจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบหน้าที่อันำคัญนี้ เขาจะทำหน้าที่พี่คนโตได้อย่างดี
แน่นอนว่า นอกจากการเอาใจใส่ที่มากกว่าน้องๆแล้ว ลูกคนโตอาจจะมาพร้อมกับความคาดหวังหรือภาระทางใจที่ต้องแบกรับ โดยลูกคนโตเปรียบเสมือน "ผู้ถูกปลดออกจากบัลลังก์" ตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กน้อยลืมตาดูโลก เขากลายเป็นศูนย์กลางของความรักระหว่างพ่อกับแม่ มีผู้คนมากมายรายล้อมเขา
ช่วงวัยทารกเป็นช่วงที่เด็กเป็นจุดสนใจของทุกคนภายในบ้าน ดังนั้น เมื่อเขาจำเป็นต้องแบ่งปันความสนใจและความรักจากพ่อแม่หรือคนอื่นๆ ให้กับ ‘น้อง’ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ นั่นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเขามาก ไม่ต่างอะไรกับการสูญเสียตำแหน่งจุดศูนย์กลางของคนในบ้านไป
"ภาระทางใจที่มักจะเกิดกับลูกคนโต"
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังให้เราดูแลรับผิดชอบน้องๆ และสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งธุรกิจภายในครอบครัว แม้พี่คนโตอาจจะมีฝันที่อยากทำ แต่ด้วยภาระที่พ่อแม่มอบให้ตั้งแต่วันที่เขามีน้องเกิดมา ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
เขาทำหน้าที่ตามสัญชาตญาณ จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบันที่เป็นพี่คนโตของครอบครัว มักจะมีช่วงเวลาที่ขมขื่นอยู่ไม่น้อยที่ตนเองต้องคอยตามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ มรดกทรัพย์สิน ไปจนถึงหนี้สินต่างๆ
บางคนต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียน ในขณะที่ตนเองต้องยอมเสียสละลาออกมาทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว บางคนต้องรับผิดชอบดูแลธุรกิจของครอบครัว ยอมละทิ้งฝันที่ตนมี ในขณะที่น้องๆ สามารถออกไปทำตามฝันของตัวเองได้อย่างอิสระ พี่คนโตอย่างเขาจึงเลือกที่จะวางสิ่งที่ตัวเองต้องการไว้เบื้องหลัง และแบกรับความต้องการของครอบครัวก่อนเสมอ
แต่ไม่ได้เหมารวมว่าลูกสาวหัวปีทุกคนจะมีปมในใจเป็นแผลใจที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะวัยเด็กทุกคนมักมีเรื่องราว การเลี้ยงดู ชุดความคิดที่เติบโตมาไม่เหมือนกัน และยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแนะนำว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไร แม้กลุ่มอาการ eldest daughter syndrome หรือ กลุ่มอาการลูกสาวคนโต อาจจะเป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ควรเพิกเฉยพวกเขา