ความเชื่อที่ว่าอยากสร้างนิสัยต้องทำติดต่อกัน 21 วันนั้นใช้ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะฝืนเข้ายิมมา 21 วันติดต่อกันอย่างไร วันที่ 22 ก็ยังต้องฝืนอยู่ดี สรุปแล้วต้องใช้เวลากี่วันถึงจะกลายเป็นนิสัย ไม่ต้องฝืน
หลังผ่านปีใหม่มาร่วมสองเดือนกว่า New Year’s resolutions ที่วางไว้ บางเป้าหมายเริ่มลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่อเนื่อง บางเป้าหมายก็เลิกทำไปแล้วซะด้วยซ้ำ เคยคิดว่าการวาง New Year’s resolutions และทำต่อเนื่องอย่างจริงจัง 21 วันอย่างที่เคยอ่านเจอ จะช่วยให้สิ่งที่เราทำต่อเนื่องนั้นกลายเป็นนิสัยของเราไปได้ เช่นว่าการออกกำลังกาย เข้ายิมต่อเนื่อง 21 วัน และหวังว่าวันที่ 22 ร่างกายเราจะตื่นเช้าเพื่อลุกมาออกกำลังกาย หรือเดินทางไปยิมอย่างอัตโนมัติ เพราะลองคิดง่ายๆ ว่า ต้องไปยิมตลอดชีวิตก็หดหู่ใจแล้ว แต่ถ้าลองฝืนแค่ 21 วันมันสามารถทำได้
ไม่อยากจะดับฝัน แต่กฎ 21 วันนั้นใช้ไม่ได้ผล ความเชื่อที่ว่านี้มาจากหนังสือดูแลตัวเองในปี 1960 ที่อธิบายเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการทำความคุ้นเคยกับหน้าใหม่หลังจากทำศัลยกรรม คราวนี้คำถามก็คือ “สรุปต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ที่งานอดิเรกจะกลายเป็นนิสัย” เมื่อไหร่ที่การไปยิมจะกลายเป็นสิ่งที่ทำโดยขาดไม่ได้ เมื่อไหร่ร่างกายจะตื่นเช้าได้เองอย่างสดใส ไม่ต้องฝืน เมื่อไหร่จะเลิกของหวานแบบไม่ต้องหักห้ามใจ
James Clear นักเขียนหนังสือขายดี Atomic Habits เผยว่า “โดยเฉลี่ยจะใช้เวลามากกว่า 2 เดือนก่อนที่พฤติกรรมใหม่จะดำเนินการอย่างอัตโนมัติ ซึ่งหากพูดให้ชัดเจนคือ 66 วัน และระยะเวลาในการสร้างนิสัยใหม่อาจแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม บุคคล และสถานการณ์ ในการศึกษาของ Lally คนทั่วไปจะใช้เวลาตั้งแต่ 18 วันถึง 254 วันในการสร้างนิสัยใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากคุณต้องการให้พฤติกรรมใหม่กลายเป็นนิสัยอย่างใจหวัง ความจริงก็คืออาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 2 เดือนถึง 8 เดือนเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่เข้ามาในชีวิต ไม่ใช่ 21 วัน“
แต่สำหรับ Wendy Wood นักเขียนหนังสือชื่อดัง Good Habits, Bad Habits กลับบอกว่า ไม่มีคำตอบ ไม่มีตัวเลขจำนวนวันมหัศจรรย์นั้นหรอก มันเหมือนกับการที่เราต้องพยายามคิดดี พูดดี ทำความดี ด้วยเจตนาดี แรกๆ นั้นจะดูน่ารำคาญในสาตาคนอื่น แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ สักวันนึงพฤติกรรมใหม่ๆ ของเราจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเอง ซึ่งสักวันนั้น ไม่รู้ว่าคือวันไหน
Wood แนะนำเรื่องการสร้างนิสัยที่ดีประจำตัวว่า “การพยายามสร้างนิสัยนั้นทำให้เรากลายเป็นคนเที่ยงตรงเกินไป อย่างเช่น เราต้องการกินแอปเปิ้ลแทนการกินขนมหวาน คราวนี้แหละเราจะตั้งใจดูแอปเปิ้ลอย่างดี ช้ำหรือไม่ มีรอยเน่าตรงไหน แต่ถ้าเราหยิบอย่างอัตโนมัติต่อให้แอปเปิ้ลลูกนั้นเน่าจริง เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเรากัดมันไปแล้วซะด้วยซ้ำ”
ทดสอบแนวคิดนี้ในข้อมูลของเราได้ โดยดูว่าผู้ที่ไปยิมตอบสนองต่อสิ่งจูงใจในการออกกำลังกายต่างๆ อย่างไร ซึ่งส่งผลทำให้การไปยิมดูคุ้มที่จะไปขึ้นมาหน่อย และเมื่อแบ่งผู้ที่ออกกำลังกายออกเป็นกลุ่มที่อัลกอริธึมของเราระบุว่ามายิมจนเป็นนิสัย กับผู้ที่พยายามมายิมให้เป็นนิสัย ผลคือสิ่งล่อใจต่างๆ ใช้ไม่ได้ผลกับกลุ่มที่มายิมจนเป็นนิสัย
สิ่งนี้หมายความว่า นิสัยจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นน้อยลงเมื่อมีเหตุผลที่ถูกต้องในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันที่จริงแล้ว ความแปรปรวนบางอย่างในกิจวัตรสามารถสร้างนิสัยที่คงทนมากขึ้นได้ ดังนั้นควรระวังพฤติกรรมที่คุณทำบ่อยๆ และให้แน่ใจว่าคุณต้องการให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นนิสัย พฤติกรรมที่เราอาจมองว่าเป็น “นิสัยที่ไม่ดี” เช่น การเช็คโทรศัพท์ตลอดเวลา ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติและเปลี่ยนแปลงได้ยากพอๆ กัน
รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมใหม่ที่เรียบง่าย มักจะกลายเป็นนิสัยเร็วมากขึ้น เช่น ล้างมือเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย หรือหากจะเป็นการออกกำลังกายให้เริ่มจากท่าง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน ทำได้ไวไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้วลองขยับไปเข้ายิมต่อ
อีกวิธีที่น่าสนใจคือการสร้างสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดนิสัย เป็นเรื่องปกติที่จะคิดว่าการสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับจิตตานุภาพ แต่ Wood ไม่แนะนำให้ทำพฤติกรรมด้วยความ “เต็มใจ” จะสร้างนิสัย แต่ขอแนะนำให้มุ่งไปที่การสร้างสถานการณ์ที่เป็นมิตรต่อนิสัย สภาพแวดล้อมที่จะ "ส่งสัญญาณ" พฤติกรรมที่ต้องการในที่สุด เช่นการใช้นาฬิกาปลุก
การวางแผนที่จะบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่ และที่ไหนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างนิสัยให้ประสบความสำเร็จ และการได้ผลลัพธ์ที่ดีด้วยการใช้สัญญาณแปลกๆ เพื่อกระตุ้นความทรงจำของคนนั้นได้ผล ดังนั้น หากต้องการเริ่มไปยิม แนะนำว่าควรวางแผนวันในสัปดาห์ที่ต้องการไป และอาจเพิ่มสัญญาณเฉพาะ เช่น เสียงปลุกบนโทรศัพท์แบบที่เราสะดุ้งในทุกครั้งที่ตั้งใจจะไปยิม