อากาศร้อน มาพร้อมโรคและสารพัดอาการเจ็บป่วย

อากาศร้อน มาพร้อมโรคและสารพัดอาการเจ็บป่วย
อากาศร้อนในช่วงนี้อาจทำใหัหลายคนไม่สบายได้ง่าย หากมีควาจำเป็นต้องออกมานอกอาการ ต้องตากแดดนอกจากทำให้ผิวเสียยังเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากอากาศร้อน

เนื่องอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ที่นำมาสู่โรคติดต่อสำคัญที่มักเกิดในฤดูร้อน โรคที่เกิดจากการรับประทานอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยทุกปีมี 6 โรค ได้แก่

โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) การติดต่อโรคดังกล่าว เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์

โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุก ๆ ดิบ ๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่หากเป็นไม่มาก จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง

โรคบิด (Dysentery) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน เช่น การรับประทานอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารดิบ ๆ สุก ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ดังนั้นไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เพศไหน วัยใดก็สามารถเป็น โรคบิด ได้ทั้งนั้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิด จะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ในคนที่ไม่ได้ทานยา แต่บางรายก็อาจมีอาการกลับมาใหม่ได้อีก

ไทฟอยด์ (Typhoid) การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีน ซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

อหิวาตกโรค (Cholera) โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์ จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป การรักษาควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป กับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ เพราะโรคดังกล่าวติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

นอกจาก 6 โรคร้ายที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีการเจ็บป่วยจากความร้อน หรือที่เรียกว่า Heat-related illness เกิดขึ้นได้ในผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะฤดูร้อน หรือทำงานสัมผัสความร้อน อาจเกิดจากอาการต่างๆ เหล่านี้ได้แก่

  1. ผื่นร้อน (Heat Rash) ตุ่ม ผื่นผดแดงมักเป็นบริเวณคอ หน้าอก ข้อพับศอก และขาหนีบ
  2. ตะคริวแดด (Heat Cramps) กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นตะคริว มีอาการปวด มักเป็นบริเวณท้อง แขน และขา
  3. ลมแดด (Heat Syncope) วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ มักเกิดเมื่อยืนเป็นเวลานาน หรือเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
  4. กล้ามเนื้อสลายตัวจากความร้อน  (rhabdomyolysis) กล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริว ปัสสาวะสีเข้มเป็นสีน้ำตาล อ่อนเพลีย
  5. โรคเพลียแดด (heat Exhaustion) ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย หิวน้ำ เหงื่อออกมาก อุณหภูมิร่างกายสูง ปัสสาวะน้อย
  6. โรคลมร้อน (Heat Stroke) ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีเหงื่อ อุณหภูมิร่างกายสูงมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง ซึม อาจชัก หมดสติ

ข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 

TAGS: #อากาศร้อน #โรค #HeatStroke #ท้องเสีย