นิสิตจุฬาฯ 7 คณะ ร่วมมือสร้างสรรค์ ยกห้องเรียนมาอยู่บนเวที เปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการแสดง “Next Door Catastrophe: รู้ตัวอีกที วินาศสันตะโร” หวังตระหนักปัญหาสังคมและเทคโนโลยี
นิสิตจุฬาฯ จาก 7 คณะ ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ รวมตัวกันในชื่อ Samyan Mustard ร่วมเปิด หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ Hall of intania เสนอประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนกระตุ้นสังคม คิดถึงภัยร้ายใกล้ตัว ที่อาจพามนุษยชาติถึงจุดจบ ภายใต้แนวคิด Documentary on Stage แบบใหม่ไม่ซ้ำใคร ผ่านแสง สี เสียงสุดอลัง ใน Next Door Catastrophe
นายปัณณสิษฐ์ จิวะพงศ์ (ปั๊น) นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ประธานโครงการกล่าวถึงแนวคิดของงานว่า “งานนี้จะไม่ใช่แค่ทอล์กโชว์ รูปแบบเดิม ๆ เรากำลังนำเนื้อหาวิชาการยาก ๆ ที่แต่ละศาสตร์ต่างดูไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างการแสดงและวิศวกรรม ขึ้นไปอยู่บนเวทีเดียวกัน ซึ่งการแสดงตลอด 2 ชั่วโมง 30 นาทีนี้ ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์เสมือนมาชมละครเวทีเรื่องหนึ่ง ด้วยเทคนิคแสง สี และเพลงที่สังสรรค์ใหม่ จนกลายมาเป็นแนวคิด Documentary on stage ที่ไม่เคยมีมาก่อนและพร้อมจะสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม นอกจากนี้รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำกลับเข้ากองทุน ‘Samyan Mustard เพื่อนวัตกรรมทางศึกษา’”
Next Door Catastrophe: รู้ตัวอีกที วินาศสันตะโร เล่าถึงมหันตภัยใกล้ตัว ที่อาจจะนำมาซึ่งจุดจบของมนุษยชาติ ตั้งแต่ ปัญหากวนใจละแวกบ้าน อย่าง “ป้าข้างบ้าน” หรือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ไปจนถึง ภัยซุ่มโจมตีที่ถูกมองว่าเพ้อเจ้อ แต่ใกล้ตัวเรามากกว่าคิด อย่างการบุกของ “เอเลี่ยน” และการคืบคลานของ “AI”
นำแสดงโดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมากความสามารถได้แก่ “เฮียวิทย์” ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ประกาศและพิธีกรข่าวสายเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ มาตั้งคำถามเรื่องระบบการเงิน การคลังที่เชื่อว่ามั่นคงจนไม่สามารถล้มล้างได้ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือ “ครูโอ๋” ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ นักร้องลูกทุ่ง นักแสดงลิเก ที่ยังเป็นรองคณบดี ฝ่ายวิจัย วิรัชกิจ และเชื่อมโยงสังคม และอาจารย์ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะพาไปถอดรหัสป้าข้างบ้าน บุคคลทั่วไปที่อาจจะอันตรายกว่าที่คิด
ร่วมเดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ความทรงจำที่ผ่านมาของมนุษยชาติกับ อาจารย์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมลินเนียนแห่งลอนดอน (Linnean Society of London) องค์กรที่ศึกษาชีววิทยา Charles Darwin เป็นหนึ่งในสมาชิกเช่นกัน ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาไปเจาะถึงปัญหาเอไอว่าเป็นอย่างไรกันแน่ นอกจากนี้ยังมี อ.ดร.ณัชพล บุญประเสริฐกิจ นิสิตวิทยาศาสตร์เอกฟิสิกส์ สู่การผันตัวเองมาเป็นอาจารย์นักวรรณคดีเปรียบเทียบ และ ภูมิปรินทร์ มโน โปรแกรมเมอร์อิสระ ผู้เคย (เกือบ) จะเป็นแฮกเกอร์
ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้ังคำถามว่าต่อประเด็น เอไอ ว่า “ทำไมถึงคิดว่าเอไอถึงเหิมเกริมและหาญกล้า ขนาดคิดจะครองโลก เป็นมนุษย์หรือเปล่า ที่เอากิเลส ความทะยานอยากของตัวเองไปตั้งคำถามกับเอไอ บทเรียนจากอดีตแสดงให้เห็นว่าความอยากของมนุษย์นี่แหละที่คอยสร้างปัญหาให้มนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งที่เอไอจะทำได้วันนี้ คงไม่ได้เป็นการทำร้ายพวกเราโดยตรง แต่กลายเป็นพวกเราเองต่างหาก ที่หลงลืมความรู้สึกของตัวเอง จนในที่สุดความเป็นตัวตนก็จะหายไป ลองยกตัวอย่าง ถ้าวันหนึ่งเอไอทำงานได้ถึงระดับที่ทดแทนการทำงานของคน เด็กชายที่เคยสนุกกับการค้นหาเส้นทางบนแผนที่ เด็กคนนั้นไม่มีอยู่ในโลกที่มีเอไอช่วยนำทาง ผู้สูงอายุอาจไม่ต้องการลูกหลานดูแล เพราะหุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า พ่อที่เฝ้าถ่ายรูปลูกสาวอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเอไอสร้างภาพสวย ๆ ได้ง่ายกว่า ถ้าวันนั้นมาถึง ความสัมพันธ์อย่างที่เราเป็นอยู่อาจจะหายไป เอไอจะมายึดครองเราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้มันอย่างไร เราต้องไม่ลืมความเป็นมนุษย์ ความรู้สึก และอารมณ์ของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา”
“เฮียวิทย์” ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ชี้ถึงภัยจากระบบเศรษฐกิจว่า ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่ล้วนมีสาเหตุมาจาก "สัญชาติญาณความโลภ" และ "ความคิดเข้าข้างตัวเอง" ของมนุษย์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือวิกฤตฟองสบู่ญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดทุนพุ่งสูง ผู้คนต่างลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนเพื่อเก็งกำไร โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ผลคือ ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยและไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ถึงปัจจุบัน วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เช่นกัน ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน เงินทุนไหลเข้าประเทศ ผู้คนกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนในหุ้นโดยไม่คิดถึงความเสี่ยง ประเทศไทยได้รับคำเตือนจาก IMF สามครั้ง แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
โดยเชื่อว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เงินสำรองถูกใช้ไปในการ พยุงค่าเงินให้อยู่ในระดับ "ภาพลวงตา" เมื่อถูกผลักเล็ก ๆ จากพ่อมดการเงิน Geroge Soros เศรษฐกิจไทยก็พังทลาย ไม่ต่างกัน สหรัฐฯ ประเทศที่มีระบบการเงินที่ซับซ้อน และ มีหลักการควบคุมที่น่าจะดีที่สุดในโลก เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มาจาก "สัญชาติญาณความโลภ" ธนาคารปล่อยกู้เงินอย่างง่ายดาย ผู้คนกู้เงินซื้อบ้านโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่อราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ผู้คนเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์พังทลาย และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก
“สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ ‘สัญชาติญาณความโลภ’ และ "การคิดเข้าข้างตัวเอง’ ของมนุษย์ ว่าจะสามารถเอาชนะคนอื่นได้ เอาชนะเทรนด์ได้ สิ่งนี้คือ เค้าลางแห่งความพินาศ ที่ทำให้โลกใบนี้ เกิดเหตุแบบนี้ ซ้ำแล้วและซ้ำอีก ไม่ต้องดูอื่นไกล ต้นตอวิกฤตทั้งหลาย อยู่ในตัวเรา ถ้ายังคิดว่าปัญหาอยู่ที่ปัจจัยภายนอก คงไม่ได้ไปไหน ต้องเริ่มจากตัวเอง”
“ครูโอ๋” ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดี ฝ่ายวิจัย วิรัชกิจ และเชื่อมโยงสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกความสัมพันธ์ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ เป็นมลพิษ แบบป้าข้างบ้านได้เหมือนกัน สิ่งที่น่ากลัว และเป็นมหันตภัยที่วินาศสันตะโรที่สุดสำหรับมนุษย์ อาจจะไม่ใช่ตัวของบุคคลที่เป็น ‘ป้าข้างบ้าน’ แต่เป็นการที่ป้าข้างบ้าน สามารถไปอยู่ในตัวทุกคนได้ คำพูดที่ร้ายกาจเป็นขีปนาวุธที่ระเบิดใจมนุษย์ มักจะถูกเหมาว่ามาจากคนนอกที่มาในรูปแบบความอยากรู้อยากเห็น แต่แท้จริงแล้วนั้นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดมักมาจากคนใกล้ตัว คนที่เรารัก และแม้จากตัวเราเองที่ด่าตัวเอง
ขอยกตัวอย่าง ‘Gaslighting’ ซึ่งมีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight (1944) ที่ภรรยาสังเกตเห็นความผิดปกติของหลอดไฟใน บ้านแล้วบอกสามี แต่กลับพูดให้เธอรู้สึกว่าเป็นบ้าไป นอกจาก Gaslighting แล้วยังมีการทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดรูปแบบอื่นที่ดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่ทิ่มแทงผู้ฟังได้ ไม่ต่างจากการตะโกนด่า นั่นคือการพูดจิกอีกฝ่ายแต่อ้างว่าเป็นแค่มุกตลก (Disguised Jokes) พูดให้ผู้ฟังเชื่อว่าสิ่งที่เขารู้สึกนั้นไม่สำคัญ ทำให้ผู้ฟังต้องยินยอมทำตามสิ่งที่ผู้กระทำต้องการ จนวันหนึ่งก็ได้กลายเป็นทาสอารมณ์โดยปริยาย จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เล็กที่สุด อาจส่งผลให้ ทั้งโลกก็มีแต่ ‘ความสัมพันธ์ที่ล่มสลาย’ และไม่มีใครจริงใจต่อกันอีกต่อไป
อาจารย์ ดร.ณัชพล บุญประเสริฐกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะนักวรรณกรรมศึกษา อาจารย์จากภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ มองมนุษย์ต่างดาวในวรรณกรรม ว่าเป็นเครื่องมือสะท้อนความคิด ความกลัว และอนาคตของมนุษยชาติ ผ่านเรื่องราวจากนิยายวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏในหลายยุคสมัย ความน่าสนใจของมนุษย์ต่างดาว ยังอยู่ที่การตั้งคำถามถึง "Fermi Paradox" ว่าทำไมเราถึงไม่เคยพบร่องรอยของพวกมัน วรรณกรรมเรื่อง "นิวโรแมนเซอร์" เสนอแง่คิดว่า “แท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นหายะวินาศสันตะโรแห่งจักรวาลอาจเป็นเรา เหล่ามนุษย์ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ จนทำให้สิ่งทรงปัญหาอื่นทิ้งเราไว้เบื้องหลัง”
ภูมิปรินทร์ มะโน วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ Metabase และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Creatorsgarten กล่าวว่า สิ่งที่แฮกเกอร์ต่างกับคนทั่วไปคือ สามัญสำนึก ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราไม่มีมารยาท โดยมองว่าทุกอย่างคือความเป็นไปได้ เราสามารถหาข้อมูล วิเคราะห์ และเจาะเข้าไป ซึ่งปกติแล้วแฮกเกอร์เจาะเข้าไปในอุปกรณ์ หรือระบบ แต่ในปัจจุบันการแฮกนั้นง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะการเจาะที่ง่ายที่สุดคือ “ใจคน” ไม่จำเป็นที่ต้องฝ่าเข้าไปในระบบที่แน่นหนาเพียงแค่ ทำให้ผู้เสียหายมอบรหัสมาให้
อาจารย์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อมนุษย์ทำตัวเป็นภัยแก่กันเอง โลกมี มีความละเอียดอ่อนกว่าที่คิด เมื่อธรรมชาติสียสมดุล จะพยายามทำให้ทุกอย่างคืนสู่สมดุล อาจเปรียบได้ว่าโลกเหมือนร่างการมนุษย์ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกัน ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม มีระบบธำรงดุลที่ทำให้ร่างกายสามารถต้านทานในภาวะที่ไม่เหมาะสมได้
เช่นเดียวกันกับธรรมชาติ ที่จะมีกระบวนการทางนิเวศที่ยังรักษาให้ระบบต่าง ๆ บนโลกนั้นอยู่ได้อย่างสมดุล เราเรียกทฤษฎีการเปรียบเทียบโลกเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต ว่า Gaia Theory หากมนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกนี้จนเสียสมดุล โลกอาจจะต้องดำเนินการบางสิ่งเพื่อรักษาสมดุล เช่นโรคระบาด ภัยพิบัติ หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้คน สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้
งานยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มาร่วมรับชมในครั้งนี้ งานของ Samyan Mustard ยังไม่จบเพียงเท่านี้ สามารถรอพบงานอื่น ๆ ได้จาก Instagram: samyanmustard และ Facebook: Samyan Mustard