เผยชีวิตคนทำหนัง อุตสาหกรรมที่เบื้องหน้าสวยงาม เบื้องหลังเหนื่อยล้ายับเยิน ผ่านมุมมอง ‘คุณชายอดัม’ หรือ หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล
การเปลี่ยนผ่านภาพยนตร์ไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคม และมุมมองของผู้คนตลอดเวลา มองจากมุมของคนดูอาจจะเห็นความสวยงาม การทำงานสร้างสรรค์ แต่เมื่อมองผ่านมุมมองของคนที่อยู่ในแวดวงหนังมาอย่างยาวนานอย่าง หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ คุณชายอดัม ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ที่ได้เผยให้เห็นถึงความเหนื่อยทั้งกายและใจของคนทำหนัง
Soft Power ผ่านภาพยนตร์ไทยจะไปได้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมหนังแข็งแรง
“หลายๆ อย่างเป็นเครื่องมือ และคิดว่าวงการบันเทิงก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะสร้างอิทธิพลให้กับต่างชาติได้ ในมุมมองของ Soft Power ได้สร้างอิทธิพล สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย การทำแบบนี้เองไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนเพียงแต่ว่าต้องทำให้อุตสาหกรรมหนังในประเทศประเทศไทยมีความแข็งแรงเพื่อที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้ มากขึ้นครับ”
การทำให้อุตสาหกรรมหนังแข็งแรง อย่างไร?
“โอ้โหมหาศาลเลย หนึ่งเลยมันต้องมีคอนเทนท์ที่ดี สองคือต้องมีการทำงานในด้านของเชิงกฎหมาย ในแง่ของการลงทุนในแง่ของการสร้างผู้ชม การสร้างให้อุตสาหกรรมในประเทศแข็งแกร่ง สามารถทำให้เราเป็นโรงงานผลิตงานสร้างสรรค์ และในงานสร้างสรรค์เหล่านั้นรัฐมีส่วนช่วยในการทำให้สินค้า และบริการต่างๆออกสู่เมืองนอกได้ และเราก็ไปกรุยทางให้ต่างชาติยอมรับในภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ละคร สารคดี รวมทั้งอนิเมชั่นของไทยให้มากยิ่งขึ้น ในการทำให้อุตสาหกรรมเข้มแข็งนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยลงไปเช่นการ Upskill และ Reskill ทำให้คนเข้าใจว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่การเต้นกินรำกิน ในแง่ของการสร้างเม็ดเงินลงทุนจากฝ่ายเอกชนไม่ใช่แค่ภาครัฐอย่างเดียวของพวกนี้มันติดกันหมดเลยไปด้วยกันหมด"
สุขภาพของคนทำหนัง คือสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
“สุขภาพเลวร้ายมากครับ แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งในข้อจำกัดสำคัญ เรามองในฝั่งของยุโรปยุโรปมีงานประสิทธิภาพสูง การที่งานประสิทธิภาพสูงการทำงานต่ำ รายได้ต่อคนต่อเวลาหรือ Man Hour เนี่ยเขาดีกว่าเรา จะปรับตรงนี้ได้เนี่ยเราก็ต้องทำให้อุตสาหกรรมของเรามีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะนำไปสู่การทำงานที่น้อยลง แล้วจะต้องปรับกฎหมายที่จะต้องจำกัดไม่ให้คนทำงานมากเกินไป ซึ่งตอนนี้หลายหลายคนต้องการทำงานเยอะ เพราะต้องการรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะทำอย่างไร ที่จะทำให้จำนวนงานของเขาลดลงแต่มีรายได้เพิ่มขึ้น"
คุณชายอดัมกล่าวย้ำว่า "ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมนี้มีผู้เสียชีวิตจากการ Overwork สูงพอสมควร เป็นงานที่ใช้ความเครียดสูงแล้วก็มีเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเยอะพอสมควรอย่างเช่น เรื่องของสุขภาพจิต มีการข่มขู่ คุกคามนักแสดง ในประเทศไทยมีการถูกข่มขู่คุกคาม และถูกคุกคามทางเพศเยอะ สุขภาพจิตต่ำมีประเด็นที่จะต้องแก้ไขในเรื่องของสุขภาพจิตเยอะพอสมควร ก็ต้องอยู่ในการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งก็ต้องดำเนินการควบคู่กับทางภาครัฐด้วย ตัวผมเป็นภาครัฐเองผมจึงจะต้องช่วยดูแล ผมจะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น"
ปัญหาสุขภาพอีกสาเหตุที่ไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมมีความยั่งยืน
"อาการ Burn Out เป็นอาการที่เกิดขึ้นเยอะมากในอุตสาหกรรมนี้ เราสามารถประเมินได้เป็นระยะเลยนะครับ ระยะหนึ่งปี สามปี ห้าปี สิบปีเนี่ย เราจะเห็นเลยว่ามีอาการหมดไฟของคนทำงานสูง ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้นอัตราการแข่งขันยิ่งมากขึ้น ในปีหนึ่งเราผลิตผลิตภาพยนตร์ประมาณ 60 เรื่อง แต่คนที่อยู่ในตำแหน่งผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์เนี่ยมีมากกว่านะครับ การแข่งขันสูงแต่มีเม็ดเงินรายได้ที่ต่ำ ทำให้หลายๆ คนเนี่ยมีอาการหมดไฟแล้วก็อีกหลายคนที่เข้าข่ายจะต้องพบแพทย์ ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญนะครับเพราะเราไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมมีความยั่งยืน และมี Career path หรือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ถูกต้องได้ เพราะเส้นทางเหล่านี้ไม่ได้ไปได้ดีเลยทำให้คุณมีอาการ Burn Out สูง ซึ่งตรงนี้เนี่ยเรียกว่ามีอัตราเยอะ 50 - 60% เลยทีเดียว ทำให้คนที่อยู่ในวงการนี้ทำงานไปแล้วก็ย้ายไปอยู่ในวงการที่แม้จะมีการแข่งขันสูงแต่ก็มีเม็ดเงินที่สูงกว่าอย่างเช่นวงการโฆษณา หรือการทำงานที่เป็นแบบ production house อื่นๆ"
ปฏิบัติต่อมันในแบบอาชีพ เราจะทำงานต่อไปได้
"ผม Burn Out ตลอดเวลา วิธีการที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาทำงาน ผมเชื่อว่ามันเป็นอาชีพครับ ผมปฏิบัติต่อมันเป็นอาชีพเป็นหน้าที่ มากกว่าเป็นงานคิดสร้างสรรค์ พอเราคิดแบบนั้นปุ๊บเราจะมีความอดทนมากกว่า เนื่องจากเราอยู่ในวงการนี้และเรามีการเตรียมพร้อมมาสมควร และค้นพบว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คนนอกมอง เมื่อเราเข้าใจปุ๊บเราก็สามารถที่จะอยู่ได้นานกว่า แต่หากถามว่ามันมีอาการ Burn Out หรือไม่มันมี มันมีแน่นอนผมเชื่อว่าทุกคนก็ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาเหมือนกัน"
แรงบันดาลใจเด็กรุ่นใหม่ กำลังใจคนรุ่นเก่า
"อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ทรหดอดทนนะครับ เราต้องใช้ความรักในงาน รักในภาพยนตร์ รักในซีรีส์ ตั้งแต่การชมการมีวัฒนธรรมการชื่นชมที่ดีจะพาไปสู่การอยู่ในอุตสาหกรรมได้ดีนะครับ เพราะผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้แพชชั่น เป็นหลักนะครับ ผมเชื่อว่าแพชชั่นเป็นตัวที่ขับเคลื่อนการทำงานส่วนธุรกิจเป็นเรื่องที่มาควบคู่ และเป็นเรื่องที่ทำให้เราหมดไฟได้อย่างง่ายๆ เราเหนื่อยกับมันแต่ว่าแพชชั่นของการที่จะได้เล่าเรื่อง หรือแพชชั่นของการสร้างสรรค์อย่าได้หมดไป ถ้ามันหมดไปเมื่อไหร่เนี่ยมันทำให้เราเหมือนคนทำงานแบบไร้วิญญาณ ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนรักในภาพยนตร์ ถ้าอยากเข้ามาในวงการนี้ก็อยากให้รักในภาพยนตร์"
อนาคตวงการหนังไทย
"วงการหนังไทยเขาเรียกว่ามีไดนามิก มีขึ้นมีลงครับเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เกี่ยวข้องกับการเมืองเกี่ยวข้องกับสังคมและปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งสำคัญเราไม่สามารถทำนายได้หรอกครับว่า มันจะขึ้นหรือจะลงแต่มันจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปให้เข้ากับยุคสมัยแต่ละยุค เด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสามารถที่จะปรับอุตสาหกรรมนี้ได้หากไม่เจอพวกปากเหยี่ยวปากกาที่จะทำให้เขาไขว้เขวยังไงเขาก็สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้"
ภาพจาก FB: เฉลิมชาตรี ยุคล