แคดเมียม (Cadmium) รู้ไว้ก่อนสาย อันตรายต่ออวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิด “โรคอิไตอิไต (Itai-itai disease)”
แคดเมียม (Cadmium, Cd) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่างๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวก PVC ผลิตเม็ดสี ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก (แคดเมียม - นิกเกิล แบตเตอรี่) เป็นต้น
แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
- การหายใจ เช่น การสูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียม
- การรับประทาร เช่น การปนเปื้อนสารแคดเมียมในอาหาร
- การสัมผัสทางผิวหนัง
แคดเมียมส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
พิษเฉียบพลัน มักพบในกรณีหายใจเอาไอระเหยของแคดเมียมเข้าไป อาจมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
พิษเรื้อรัง การได้รับสารแคดเมียมเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเป็นพิษของไต กระดูก และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดหากสัมผัสสารนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เมื่อได้รับแคดเมียมในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จะทำให้เกิดอาการต่างๆดังนี้
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก กระดูกเปราะ
- ไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปอดอักเสบ
- ไตอักเสบ ไตวาย นิ่วทางเดินปัสสาวะ
- โลหิตจาง
- ปวดศีรษะ เสียการรับกลิ่น
- เพิ่มโอกาสเป็นหมัน
- เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด
การที่สารแคดเมียมเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิด “โรคอิไตอิไต (Itai-itai disease)” ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูก กระดูกเปราะผิดรูปโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ฟันมีวงเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง โลหิตจาง ไตวาย จนอาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้
แคดเมียมป้องกันได้อย่างไรบ้าง ?
- การเก็บรักษาแคดเมียมในรูปแบบของสถานะของแข็งและอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิด สามารถช่วยลดความเสี่ยงการรับสัมผัสสารดังกล่าวได้
- การป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่ทำงานสัมผัสกับแคดเมียม ทำได้โดย
- ใส่หน้ากาก เช่น หน้ากาก N95 ป้องกันไอระเหยจากสารเคมีโดยเฉพาะเพื่อป้องกันการหายใจเอาไอของแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย
- ใส่ถุงมือตลอดเวลาในขณะปฏิบัติงาน
- ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายหลังการทำงานทุกครั้ง
- ในกลุ่มประชนทั่วไปอาจลดความกังวลลงได้หากไม่ได้รับสัมผัสโดยตรง หรืออาจเฝ้าระวังสังเกตอาการการเกิดพิษ ที่เป็นผลจากแคดเมียมได้
วิธีการรักษา ส่วนใหญ่คือ การรักษาตามอาการ และการให้คีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy)
ข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลสินแพทย์