อาหารแบบเมดิเตอเรเนียน "ลด" อาการซึมเศร้าได้

อาหารแบบเมดิเตอเรเนียน
อาหารมีความสำคัญต่อการเจ็บป่วยทางจิตและสุขภาพจิต การบริโภคอาหารหลากหลาย อาทิ อาหารแบบวิถีเอเชียหรือวิถีตะวันตกแบบเมดิเตเรเนียน

อาหารแบบวิถีเอเชีย ที่มีข้าวเป็นอาหารหลัก ผัก ปลา ผลไม้ เต้าหู้ เครื่องเทศต่างๆ หรือวิถีตะวันตกแบบเมดิเตเรเนียนที่เน้นไปที่ผัก ผลไม้ เนื้อไม่ติดมัน ปลา น้ำมันมะกอก ฯลฯ มีผลสามารถลดอาการของโรคซึมเศร้าได้ ในขณะที่การมีพฤติกรรมรับประทานอาหารแปรรูป อาหารปรุงแต่งต่างๆ เช่น บะหมี่ ขนมปัง เนื้อสัตว์แปรรูป เช่นเดียวกับผู้ที่เลือกอดอาหารบางประเภทเพื่อควบคุมน้ำหนัก กลับเพิ่มความเสี่ยงภาวะซึมเศร้ามากขึ้น

จากรายงานการศึกษาของดร.ฟรานซิส เฮเทอร์ และคณะ จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Macquarie ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าวว่าการวิจัยทางคลินิก (Clinical trials) เป็นกระบวนการทดสอบ (ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ฯลฯ) ในคน ที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยผลการศึกษาได้เผยแพร่ในวารสาร PLOS One เมื่อต้นตุลาคม 2019 โดยเป็นการศึกษาเชิงทดลอง ติดตามพฤติกรรมบริโภคอาหารในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการปานกลางถึงสูงอย่างใกล้ชิด กลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกอยู่ในวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 17-35 ปี ใช้เวลาศึกษา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 5/8/2017 - 6/11/2018 ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกว่า 363 ราย (สุ่มเลือก 101 ราย) แบ่งการศึกษาเป็นสองกลุ่ม 

กลุ่มแรก จะได้รับคำแนะนำเชิงป้องกันส่งเสริมการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นระยะต่อเนื่องตลอดการทดลอง ในการในการบริโภคอาหาร (diet group) แบบเมดิเตเรเนียน อาทิ ผัก (5 ครั้ง/สัปดาห์) ผลไม้ (2-3 ครั้ง/สัปดาห์) โปรตีนจากเนื้อไม่ติดมัน ไข่เต้าหู้ ปลา (3 ครั้ง/สัปดาห์) ถั่วและเมล็ดพืช เครื่องเทศ น้ำมันมะกอก อบเชย ขมิ้น เป็นต้น ซึ่งอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน ได้รับการยอมรับในเชิงวิชาการจากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ ขณะที่อีกกลุ่มบริโภคอาหารตามปกติชีวิตประจำวัน (Habitual diet control group) ใช้เวลาสามเดือนติดตามประเมินผล

ทั้งนี้ในรายละเอียดเพิ่มเติม จะเริ่มประเมินผลในสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งเป็่นช่วงระยะเวลาทีี่ได้รับการยืนยันทางวิชาการว่าการรักษาด้วยยาต้านเศร้าจะมีผลทางการรักษาเป็นบรรทัดฐาน โดยเฉพาะผลต่อกระบวนการลดภาวะอักเสบ (Inflamation reduction) ในร่างกายที่มีรายงานการศึกษาที่ผู้วิจัยอ้างถึง โดยยืนยันว่าการเจ็บป่วยทางจิตเวชโดยเฉพาะปัญหาโรคซึมเศร้า ไม่เพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบการอักเสบ (inflammatory system) ของร่างกาย ทั้งนี้ผลการรักษาจะได้ผลเต็มที่ในช่วง 2-4 สัปดาห์

ประเมินภาวะซึมเศร้าจากแบบประเมินมาตรฐานหลายแบบ เช่น แบบประเมินซึมเศร้า CESD-R แบบประเมินภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล (Depression Anxiety and Stress), DASS-21-D, current mood (Profile of Mood States), self-efficacy (New General Self-Efficacy Scale) and memory (Hopkins Verbal Learning Test) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเมดิเตเรเนียน มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลง โดยมีค่าคะแนนจากจากแบบประเมินที่แสดงถึงอาการทางคลินิกลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ดร.ฟรานซิส ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "อาการซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของร่างกายไม่ใช่แค่ความผิดปกติของสมองแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อภาวะการอักเสบเรื้อรัง ขณะเดียวกันอาหารที่ไม่ดีสามารถเพิ่มการอักเสบในระบบเช่นกัน สิ่งนี้น่าจะมีเหตุผลสองประการ” เธอกล่าว “อย่างแรกอาหารแปรรูปสูง ประเภทของหวาน อาหารฟาสต์ฟู้ด และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล สามารถเพิ่มกระบวนการอักเสบของร่างกาย และสอง ถ้าเราไม่บริโภคอาหารที่มีสารอาหารหนาแน่นเพียงพอ อาทิ ผลไม้ ผัก ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือปลา สิ่งนี้อาจทำให้เกิดความไม่เพียงพอในสารอาหารและไฟเบอร์ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการอักเสบในร่างกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมาน อันเป็นผลจากการเจ็บป่วยที่ร่างกายต้องต่อสู้กับกระบวนการอักเสบเรื้อรัง ที่มาพร้อมกับภาวะซึมเศร้าให้มีมากขึ้น”

ไม่ใช่แค่อาหารแบบเมดิเตอเรเนียนเท่านั้นที่ช่วยอาการของโรคซึมเศร้าได้ อาหารวิถีเอเชีย ก็สามารถลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน การศึกษาของ Park SJ, Kim MS, Lee HJ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเกชอนในเกาหลี เผยแพร่ในฐานข้อมูล PubMed เมื่อปี 2019 นี้เอง โดยเป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล 3 ปี ในกลุ่มวัยทำงานของคนเกาหลี และญี่ปุ่น จำนวนกว่า 3,388 ราย เปรียบเทียบกัน โดยกลุ่มตัวอย่างแรก มีรูปแบบพฤติกรรมรับประทานอาหารธรรมชาติวิถีเอเชีย ที่เน้นไปที่ประเภท ผัก เห็ด น้ำเต้าหู้ สาหร่ายทะเล ปลา หอย (Shellfish) ข้าว ชาเขียว เป็นต้น ขณะที่อีกกลุ่มเน้นรับประทาน เนื้อสัตว์ บะหมี่ ขนมปัง กาแฟ ไม่ทานข้าวเลย ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มแรกที่เน้นอาหารหลากหลายจากธรรมชาติ มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลดลง ในขณะที่กลุ่มที่สองที่เน้นรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ ขนมปัง บะหมี่ และไม่ทานข้าว กลับมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น

นอกจากอาหารมีส่วนช่วยอาการของโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่การรับประทานอาหารแบบผิดๆ ส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าแย่กว่าเดิม นั้นคือการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักในวัยกลางคน ที่จะเพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้า จากรายงานการศึกษาของ Tasnime N. Akbaraly และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้เผยแพร่ในวารสาร THE BRITISH JOURNAL OF PSYCHIATRY เมื่อปี 2009 พบว่า การอดอาหารแบบมีรูปแบบชัดเจนเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้

โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างวัยระหว่าง 35-55 ปี จำนวน 3,486 ราย คิดเป็นเพศหญิงกว่าร้อยละ 26.2 อายุเฉลี่ย 55.6 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางประเทภอย่างเข้มงวด เพื่อจุดประสงค์บางประการ นั่นค่อ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ เน้นผักผลิตภัณฑ์แปลรูปโปรตีนจากพืช และผลไม้ เท่านั้น เป็นต้น เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เลือกรับประทานอาหารประเภทใดเป็นพิเศษ โดยมีพฤติกรรมรับประทานแบบหลากหลาย ทั้งผัก โปรตีนจากสัตว์ คาร์โบไฮเดรตแบบปกติ หลังจากระยะเวลาผ่านไป 5 ปี ผู้วิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้า (CES–D depression) พบว่า กลุ่มที่เลือกรับประทานอาหารแบบเข้มงวดที่เน้นเฉพาะผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปโปรตีนจากพืช ผลไม้ มีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน

ข้อมูล กรมสุขภาพจิต

TAGS: #อาหาร #ซึมเศร้า #เมดิเตอเรเนียนฟู๊ด #เอเชียนฟู๊ด