“สวรรค์ดีๆ นี่เอง” อากาศร้อนแต่ความรู้สึกยังร้อนได้อีก!

“สวรรค์ดีๆ นี่เอง” อากาศร้อนแต่ความรู้สึกยังร้อนได้อีก!
ร้อนขนาดนี้ แต่ยังรู้สึก “ร้อนเกินได้อีก” เคยสงสัยไหมว่าทำไมอุณหภูมิบอกอย่าง เรารู้สึกอีกอย่าง มันเกิดจากอะไร?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเช็กอุณหภูมิที่ได้ กับความร้อนที่สัมผัสจริงมันคนละเรื่องกันเลยนั่นเป็นเพราะ “ความชื้น” หรือ “ความชื้นในอากาศ” เป็นปัจจัยหลักอีกอย่างที่ทำให้เรารู้สึกแตกต่างระหว่างอุณหภูมิและความรู้สึก เพราะเหตุใดความชื้นถึงทำให้แตกต่างได้ เพราะ ความชื้นในอากาศที่สูงมาก เหงื่อจะระเหยได้ช้ากว่า ร่างกายจึงระบายความร้อนได้ยาก และเมื่อความชื้นในอากาศต่ำ เหงื่อก็จะระเหยได้เร็ว ร่างกายจึงระบายความร้อนได้ง่าย นั่นเอง

ความร้อนที่เรารู้สึกนั้นวัดได้จากค่า “ดัชนีความร้อน” (Heat Index) ซึ่งตามคำอธิบายขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ โนอา (NOAA) ระบุว่า ดัชนีความร้อนคืออุณหภูมิที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกตามความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของอากาศและความชื้น

ดัชนีความร้อนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพิจารณาความสบายทางกายของมนุษย์ เมื่อร่างกายร้อนขึ้นก็จะเริ่มมีเหงื่อออกแต่หากเหงื่อออกแล้วไม่สามารถระเหยได้ จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ได้ การระเหยเหงื่อเป็นกระบวนการทำความเย็น เมื่อเหงื่อที่ออกมาจากร่างกายระเหยไปก็จะลดอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทว่าความชุ่มชื้นในบรรยากาศหรือความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีสูง อัตราการระเหยของเหงื่อจากร่างกายก็จะลดลง หรืออีกแง่หนึ่งร่างกายจะรู้ร้อนขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีความชื้น ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นสัมพัทธลดลง อัตราการระเหยของเหงื่อก็เพิ่มขึ้น ซึ่งร่างกายจะรู้สึกเย็นจริงๆ เมื่ออากาศแห้ง

นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างอุณหภูมิของอากาศความชื้นสัมพัทธ์ และดัชนีความร้อน เมื่ออุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น ดัชนีความร้อนก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่หากอุณหภูมิและ ความชื้นสัมพัทธ์ลดลง ดัชนีความร้อนก็ลดลงด้วย

แนวทางการป้องกันและลดความเสี่ยงจากความร้อน มาแนะนำ กับ แนวทาง 3ต “ติดตาม เตรียมตัว ตรวจสอบ” ดังนี้

1. ติดตาม ข่าวสารพยากรณ์อากาศและพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) จาก กรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งเว็บไซต์และ Facebook สำหรับข้อมูลสุขภาพได้จากเว็ปไซต์ และ Facebook กรมอนามัย และ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ 

2. เตรียมตัว ทำตามคำแนะนำในการดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน สำหรับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง

3. ตรวจสอบและสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการผิดปกติให้รีบติดต่อแพทย์หรือโทร 1669

ข้อมูล 1 2

TAGS: #อากาศร้อน #ความชื้น