“Work ไร้ Balance” แพทย์ รพ.วิมุต ชี้ ระวังเป็น "ภาวะสมองล้า" ไม่รู้ตัว! แนะหยุดโหมงาน-ปรับพฤติกรรมด่วน ก่อนเสี่ยงโรคอีกเพียบ เช็กอาการแบบไหน เสี่ยง! “ภาวะสมองล้า”
ผลสำรวจ Cities with the Overworked ปี 2564 ของ KSI ยังจัดให้ “กรุงเทพฯ” ติดอันดับที่ 3 ของเมืองที่คนทำงานหนักที่สุดในโลกอีกด้วย นับเป็นสถิติที่น่ากังวลมาก เพราะคนที่ทำงานหนักนานวันเข้าจะเริ่มคิดงานได้ไม่ทันใจหรือไม่มีสมาธิเหมือนเดิม เป็นสัญญาณที่นำไปสู่ "ภาวะสมองล้า" อาการที่สมองทำงานหนักเกินไปจนกระทบการใช้ชีวิต และหากไม่รักษาอาจนำไปสู่โรคอันตรายมากมาย วันนี้ นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิมุต จะมาอธิบายลักษณะของภาวะสมองล้า พร้อมบอกวิธีดูแลรักษา พร้อมแนวทางปรับไลฟ์สไตล์ จะได้ดูแลสมองและโฟกัสกับงานตรงหน้าได้เต็มที่ไปนาน ๆ
"ภาวะสมองล้า" คืออะไร
ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) ไม่ใช่โรค แต่คือภาวะที่สมองทำงานหนักเกินไปจนทำให้สารสื่อประสาทไม่สมดุล ทำให้เซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันได้ช้ากว่าปกติ ในบางวิจัยบอกว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของเลือดในสมอง ทำให้สมองประมวลช้า เปรียบได้เหมือนการมีหมอกมาปกคลุมจนสมองทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ขาดสมาธิ ตัดสินใจได้ช้าลง ความจำระยะสั้นแย่ลง หรือปวดศีรษะ เป็นต้น
อาการแบบไหน เสี่ยง! “ภาวะสมองล้า”
ภาวะสมองล้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ และสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนมากเกิดจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียดสะสม และขาดการออกกำลังกาย จุดสังเกตของผู้ที่มีภาวะสมองล้าคือการจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ไม่ได้ หรือทำงานอะไรก็ผิดพลาดเล็กน้อยอยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นงานที่ทำอยู่ทุกวัน ในบางคนอาจมีปัญหาในเรื่องความจำระยะสั้น ทำให้เกิดอาการหลงลืมชั่วคราว "แม้ว่าอาการของภาวะสมองล้าอาจไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่หากไม่รักษาและปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการหรือโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น อาการปวดศีรษะ การนอนไม่หลับที่นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงและโรคเส้นเลือดในสมองแตก เพราะฉะนั้นหากเริ่มมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวการรักษาที่ถูกต้อง" นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อธิบาย
“ภาวะสมองล้า” รักษาไม่ยากแค่ปรับพฤติกรรม
การป้องกันและรักษาภาวะสมองล้าส่วนมากจะเป็นการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี
“อย่างแรกคือการจัดการความเครียด โดยหากิจกรรมผ่อนคลายที่เราชอบ อาจเป็นการทำสมาธิ ดูหนัง เล่นเกม หรืออ่านหนังสือ สองคือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3-5 วัน ต่อสัปดาห์ เพื่อให้การไหลเวียนเลือดในสมองดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองล้า สามคือพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมง และไม่เข้านอนดึกเกินไป เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายรวมถึงสมอง นอกจากนี้ควรเสริมด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง เช่น ปลา ธัญพืช ผักหลากสี อาหารที่มีแร่ธาตุ และลดการดื่มสุราและการสูบบุหรี่”
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง เล่าถึงการป้องกันและรักษา
"ภาวะสมองล้าอาจไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้เราก็จะทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ทั้งยังอาจเสี่ยงต่อโรคอีกมากมาย ดังนั้นใครที่มีอาการเข้าข่ายภาวะสมองล้าก็ควรรีบหาวิธีรักษา ด้วยการปรับการใช้ชีวิต กินให้ดี นอนให้พอ หันมาจัดการความเหนื่อยล้าเพื่อไม่ให้เครียดสะสม เหนื่อยก็พัก ไม่ไหวก็พอ และบอกตัวเองเสมอว่าสุขภาพของเราสำคัญที่สุด" นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง กล่าวทิ้งท้าย