ใช้ชีวิตไปวันๆ รู้สึกเนือยๆ ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในปัจจุบัน

ใช้ชีวิตไปวันๆ รู้สึกเนือยๆ ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในปัจจุบัน
ทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่เห็นว่าจะคืนหน้า ไม่มีแรงจูงใจ ไร้จุดหมายจนเกิด “ภาวะว่างเปล่า (Languishing)” ที่อาการอาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

ในช่วงชีวิตหนึ่งหลายคนอาจจะประสบกับภาวะอารมณ์เฉยเมย ไม่รู้สึกว่าชีวิตมีจุดหมาย ขาดแรงจูงใจที่จะทำกิจกรรมใหม่ๆ อาจจะเป็นในช่วงวัยกลางคนที่เริ่มทำสิ่งเดิมๆ วนๆ ไปมาและไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมใหม่ๆ อย่างไร หรืออีกช่วงเวลาหนึ่งที่หลายคนเจอนั้นคือช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่โควิด-19 ที่มีโรคระบาดแรกๆ ทุกคนตื่นตัว เรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ แต่พอได้ทำทุกอย่างก็แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยหน่ายไร้จุดมุ่งหมายก็เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนเกิดความรู้สึกว่างเปล่า จนทำให้เกิดความเนือยเฉื่อยชาในที่สุด

ภาวะว่างเปล่า (Languishing) คืออะไร

ภาวะว่างเปล่า เป็นภาวะที่ขาดแรงจูงใจ ไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต หรืออารมณ์ที่รู้สึกเนือย ๆ ไม่อยากทำอะไรเป็นพิเศษ ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากขึ้นจากการศึกษาเพิ่มเติมมีการพบว่า สภาวะนี้ มักจะพบมากในช่วงวัย 25-74 ปี เกิดจากอารมณ์เหนื่อยหน่ายกับการพยายามทำอะไรบางอย่างมานาน ๆ ที่ยิ่งทำก็ยิ่งพบว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อาจจะดูคล้ายๆ กับ ภาวะซึมเศร้า แต่หากมีแค่อาการดังต่อไปนี้ ก็อาจจะเป็นแค่สภาวะว่างเปล่า ได้แก่

1. มีความรู้สึกเนือย ๆ รู้สึกเหนื่อยแต่ไม่ได้เกิดอาการหมดไฟ เพราะยังมีความรู้สึกอยากทำอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่แค่ยังไม่มีกะจิตกะใจจะทำเท่านั้น

2. เกิดความรู้สึกไม่สนุกเหมือนก่อน แต่ไม่ได้รู้สึกเศร้า หรือซึมลึก

3. เกิดการเคว้ง มีความรู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่ไม่ถึงกับหมดหวัง

4. ทำงานหรือเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่เคย แต่ไม่ถึงกับทำงานไม่ได้ หรือเข้าเรียนไม่ได้

สาเหตุ เกิดจากอารมณ์เหนื่อยหน่ายกับการพยายามทำบางสิ่งบางอย่างมานานแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

วิธีรับมือกับภาวะว่างเปล่า

  1. พยายามทำกิจกรรมที่สนุกท้าทาย เช่น เรียนภาษาที่ 3 หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ให้ตนเอง
  2. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในชีวิตและพิชิตให้ได้ เช่น ตั้งเป้าหมายในการจัดห้องใหม่หรือการลดน้ำหนัก
  3. หาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ โดยการแบ่งเวลาส่วนตัวของตนเอง โดยไม่มีผู้อื่นมาขัดจังหวะ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น การทำกิจกรรมทางสังคม การออกกำลังกาย

ที่มา : อ. นพ. ชาวิท ตันวีระชัยสกุล

TAGS: #ภาวะว่างเปล่า #ภาวะซึมเศร้า