สำรวจจิตใจให้พร้อมก่อนก้าวสู่ "Transgender"

สำรวจจิตใจให้พร้อมก่อนก้าวสู่
เมื่ออยากให้ร่างกายตรงกับจิตใจ การทำศัลยกรรมข้มเพศจึงเป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุด ก่อนจะเริ่มศัลยกรรมทุกประเภท การสำรวจจิตใจถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า ทำความเข้าใจทำไมกราวินิจฉัยสุขภาพจิตจึงสำคัญ

คนข้ามเพศถือเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งในกลุ่มของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยคำนิยามคนข้ามเพศ คือ ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการรับรู้ทางเพศจากภายในที่ต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการรับรู้ทางเพศจากภายในเป็นหญิง เรียกว่า “หญิงข้ามเพศ” อีกกลุ่มคือ ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการรับรู้ทางเพศจากภายในเป็นชาย เรียกว่า “ชายข้ามเพศ”

คนข้ามเพศนั้นมีทั้งกลุ่มที่รับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองและได้ผ่านกระบวนการของการข้ามเพศมาแล้ว จึงมีภาพของการแสดงออกและการใช้ชีวิตที่เป็นไปตามเพศที่ตัวเองรับรู้จากภายใน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนข้ามเพศที่อาจรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง แต่ยังไม่ได้ผ่านหรือไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการในการข้ามเพศได้อาจมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเช่นกัน อาจต้องเข้าสู่กระบวนการรับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการทางการแพทย์เพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของตนเอง

การผ่าตัดแปลงเพศแบบสมบูรณ์ (Modern Sex Reassignment Surgery หรือ SRS) ในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 2521 เดิมทีการเข้ารับทำการผ่าตัดแปลงเพศนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับจิตแพทย์ จิตแพทย์ไม่มีบทบาทในการวินิจฉัยและดูแลคนไข้ เพราะการเข้ารับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์นั้นคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นโรจิต แต่คนข้ามเพศมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นโรคจิต

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตของคนข้ามเพศ คือ การตีตรา เช่น การถูกตีตราเชิงโครงสร้าง การตีตราระหว่างบุคคล หรือความรู้สึกที่คนอื่นมองมา และการตีตราในระดับบุคคล หรือความรู้สึกที่มีต่อตนเอง ความกังวล และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญกับการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพจิตของคนข้ามเพศทั้งสิ้น

คนที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ว่าจะเป็นแปลงเพศจากชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชาย ขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำทุกรายและปฏิบัติกันจนเป็นมาตรฐานทั่วโลกคือ การพบ “จิตแพทย์” ซึ่งตามกฎหมายไทยกำหนดว่าต้องพบจิตแพทย์ 2 ท่าน โดยจิตแพทย์จะประเมินว่าคนๆ นั้นมีคุณสมบัติและสภาวะจิตใจที่พร้อมต่อการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ ถ้าพร้อมและแน่ใจว่าการผ่าตัดแปลงเพศจะเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด จิตแพทย์จะออกใบรับรองผ่าตัด (Psychological Assessment License) ให้ แล้วส่งให้ศัลยแพทย์ทำผ่าตัดต่อไป

การพบจิตแพทย์ก่อนแปลงเพศนั้นสำคัญมาก รองศาสตราจารย์ นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า การเข้ารับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อนเสมอ คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าการพบจิตแพทย์นัยว่ามีความผิดปกติทางจิต ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ จิตแพทย์เพียงต้องการความมั่นใจว่าผู้เข้ารับบริการแน่วแน่ในเจตจำนงของตนโดยจะไม่เสียใจภายหลัง และไม่ใช่ความสับสนอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้จิตเภทที่มีอาการหลงคิดว่าตนอยากแปลงเพศ อยากเป็นคนข้ามเพศ มีปัญหาบุคลิกภาพหรือเป็นผู้ที่มีความสุขทางเพศจากการแต่งกายเป็นเพศตรงข้ามเท่านั้น

ผศ. พญ.พูนพิศมัย สุวะโจ ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภกาชาดไทย ให้ข้อมูลการเข้ารับวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีภาวะความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Dysphoria) โดยการผ่าตัดอวัยวะเพศมีแนวทางในการประเมินก่อนรับการผ่าตัดดังนี้

  • ผู้รับการผ่าตัดเข้าใจและให้ความยินยอมบนเอกสารยินยอมในการผ่าตัด
  • มีอายุตามเกณฑ์การผ่าตัด หรือได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง
  • ไม่มีโรคที่เป็นอันตรายจากการผ่าตัด หรือการใช้ยาระงับความรู้สึก
  • หากเป็นโรคทางจิตเวช จะต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการได้ดีก่อน
  • ในกรณีการผ่าตัดอวัยวะเพศจะต้องได้รับฮอร์โมนอย่างน้อย 12 เดือน และผ่านการใช้ชีวิตตามเพศที่ต้องการผ่าตัดข้ามเพศมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน
  • การประเมินก่อนผ่าตัดเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาด ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นลดความกดดันทางจิตใจ และเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศได้อย่างสมบูรณ์

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในคนข้ามเพศ คือ ภาวะซึมเศร้า เบื่อ หมดความเพลิดเพลิน มักพบร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เบื่ออหาร หรือรับประทานมากเกินไป นอนไม่หลับ หรือหลับทั้งวัน สมาธิแย่ลง มีความคิดเรื่องความตาย เมื่อพิจารณาเฉพาะคนข้ามเพศ พบความชุกของภาวะซึมเศร้าสูง โดยเฉพาะในคนข้ามเพศที่อายุมาก มีความเคารพนับถือในตนเองต่ำ มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีแรงสนับสนุนทางสังคมน้อย อย่างไรก็ตาม พบว่าการรับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

อีกภาวะทางสุขภาพจิตที่พบบ่อยคือ ภาวะวิตกกังวล ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในคนข้ามเพศ ปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น การทำร้ายตนเอง โดยเฉพาะในคนข้ามเพศที่อายุน้อย, การใช้สารเสพติด, ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน และกลุ่มอาการทางจิต

ข้อมูล 1 2 3 4

TAGS: #transgender #คนข้ามเพศ #สุขภาพจิต