“เทคฮอร์โมน” เรื่องสำคัญที่คนข้ามเพศควรศึกษา

“เทคฮอร์โมน” เรื่องสำคัญที่คนข้ามเพศควรศึกษา
คนข้ามเพศ หลายคนอยากได้รูปร่าง สัดส่วน หน้าตาให้คล้าย หรือเหมือนเพศที่ตนเองต้องการ ดังนั้นการเทคฮอร์โมนจึงเป็นสิ่งที่นิยมทำกัน ก่อนจะผ่าตัดแปลงเพศ

ทำความรู้จัก “การเทคฮอร์โมน” คือ การรับฮอร์โมนเพศที่ต้องการเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้สรีระร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงไปยังเพศที่ตนเองต้องการ หรือที่ได้รับมา โดยการเทคฮอร์โมนสำหรับกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปยังเพศที่ตนเองต้องการ หรือที่เรียกว่า “คนข้ามเพศ” (Transgender) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

การเทคฮอร์โมนสำหรับชายเป็นหญิง (Feminizing hormone therapy) หรือที่เรียกว่า หญิงข้ามเพศ (Transwomen) การให้ยายับยั้งฮอร์โมนเพศชายเพื่อลด หรือกดฮอร์โมนเพศชายลง เสริมฮอร์โมนเพศหญิง โดยฮอร์โมนหญิงที่เสริมได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อให้ฮอร์โมนความเป็นชายไม่เหลือ เปลี่ยนสรีระให้คล้ายเพศหญิงมากขึ้น ลดการมีหนวด เครา เปลี่ยนเสียงให้แหลมขึ้น เค้าโครงหน้าหวานขึ้น 

การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงเป็นชาย (Masculinizing hormone therapy) หรือที่เรียกว่า ชายข้ามเพศ (Transman) เป็นการเสริมฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone) โดยจะเข้าไปลดทอน หรือกำจัดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่เดิมให้ค่อยๆ หายไป แล้วเสริมและกระตุ้นฮอร์โมนเพศชายขึ้นมาแทน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระคล้ายเพศชายมากขึ้น เช่น มีขน หนวด เครา มีเสียงใหญ่ขึ้น มีกล้ามเนื้อเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น และประจำเดือนลดลงปราศจากเลือด เป็นต้น

ในผู้ที่ต้องการข้ามเพศ การเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศมีจุดประสงค์เพื่อลดฮอร์โมนเพศเดิมที่สร้างขึ้นจากร่างกาย ช่วยลดการแสดงออกทางร่างกายของเพศเดิม และเพื่อเสริมฮอร์โมนเพศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปตามที่ตนเองต้องการ แต่การเทคฮอร์โมนนั้นควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพราะยังมีความเสี่ยงหรือเป็นโรคที่เป็นข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมน เช่น หลอดเลือดอุดตัน มะเร็งบางชนิด เป็นต้น นอกจากนี้ฮอร์โมนยังมีหลากหลายชนิดและรูปแบบ แต่ละคนอาจเหมาะกับฮอร์โมนต่างชนิดกัน

สำหรับฮอร์โมนเพศที่นำมาใช้เพื่อการข้ามเพศ เป็นฮอร์โมนที่มีความคล้ายกับฮอร์โมนธรรมชาติจึงนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ที่ต้องการข้ามเพศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตรงกับเพศที่ต้องการ ทำให้รู้สึกดีและมั่นใจในตนเองเพราะฉะนั้นฮอร์โมนข้ามเพศนอกจากเปลี่ยนแปลงร่างกายยังทำให้ภาวะทางจิตใจดีขึ้นด้วย

การเทคฮอร์โมนจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและผ่านเกณฑ์ดังนี้

  1. ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ตัดสินใจและให้ความยินยอมในการรักษาได้
  2. ผู้ที่มีอายุ 18 - 20 ปี ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม
  3. จะต้องผ่านการพบจิตแพทย์ 2 ท่าน เพื่อประเมินสภาพจิตใจว่าผู้รับบริการต้องการจะเป็นคนข้ามเพศแน่นอน
  4. ก่อนเทคฮอร์โมนเพศต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดระดับฮอร์โมน และความพร้อมของร่างกายก่อน เช่น การตรวจตรวจเลือด ดูระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจดูการทำงานของตับ ไต ภาวะเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ประวัติการเป็นมะเร็งในครอบครัวการรับประทานยาตัวใดเป็นประจำ หรือโรคประจำตัวต่างๆ
  5. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  6. ไม่มีประวัติแพ้ยา
  7. ในเพศหญิงที่ต้องการเป็นชายต้องไม่มีภาวะการตั้งครรภ์

เมื่อเทคฮอร์โมนไปแล้ว จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนไปตลอดชีวิต หากยังต้องการผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในด้านการแสดงออกเป็นหญิง หรือฮอร์โมนแอนโดรเจนในด้านการแสดงออกเป็นชายยังคงอยู่ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะผ่าตัดเอารังไข่หรืออัณฑะออก ปริมาณฮอร์โมนที่รับจะถูกลดขนาดลงให้เหลือแค่เพียงพอที่จะให้ผลด้านการแสดงออกทางเพศ และเพียงพอจะป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน และยังจำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจติดตามอาการ เพื่อให้แน่ใจว่ายาฮอร์โมนได้เข้าสู่ร่างกายจริง และสามารถตรวจพบความผิดปกติหรือปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที

และที่สำคัญยังสามารถมีลูกได้ เพราะการใช้ฮอร์โมนจะทำให้เกิดภาวะเป็นหมันแต่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที การใช้ฮอร์โมนจึงไม่ใช่วิธีสำหรับการคุมกำเนิด ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นหญิงข้ามเพศ การหยุดยาฮอร์โมนอาจช่วยให้การสร้างสเปิร์มกลับมาได้บ้าง การจะกลายเป็นหมันถาวรจะเกิดหลังจากผ่าตัดนำอัณฑะออกแล้ว

ในส่วนของชายข้ามเพศ การใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าที่จะกลายเป็นหมันถาวร หลังการผ่าตัดเอารังไข่ออกจะไม่สามารถตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติได้ เมื่อผ่าตัดเอามดลูกออกจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก การปรึกษาแพทย์เรื่องผลกระทบของการใช้ฮอร์โมนกับโอกาสที่จะมีบุตรในอนาคต รวมถึงควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บสเปิร์มหรือไข่จึงเป็นเรื่องที่ควรพูดคุยตั้งแต่เริ่มกระบวนการ

ข้อมูล 1 2 3

TAGS: #TransGender #pride #เทคฮอร์โมน