รู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด เมื่อพ.ร.บ.สมรมเท่าเทียมบังคับใช้

รู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด เมื่อพ.ร.บ.สมรมเท่าเทียมบังคับใช้
เมื่อสมรมเท่าเทียมบังคับใช้ สังคมไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร นอกจากสิทธิต่างๆ ที่เพศหลากหลายจะได้รับเหมือนชายหญิงแล้ว หน้าที่ และความรับผิดที่จะตามมาคืออะไร

วันที่ 3 มิถุนายน 2567 สำนักข่าว The Better ร่วมกับ Bangkok Pride จัดฟอรัมในงาน BANGKOK PRIDE FORUM 2024 ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้วิทยากรจากหลาายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคสังคมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม หากกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ สังคมไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ภายใตฟอรัม “LGBTQIAN+ รู้เท่าทัน สิทธิคู่สมรสอย่างเท่าเทียม”

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชาว LGBTQIAN+ แต่ยังมีแง่มุมทางด้านกฎหมายอีกมาก ไม่ใช่แค่คำว่า “คู่สมรส” แต่ยังรวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน การจัดการทรัพย์สินและมรดก สินสมรส พินัยกรรมและอื่นๆ อีกมากมาย

โดยได้รับเกียรติจาก คุณพิศุทธ์ อรรถกมล กรรมการหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด, คุณกฤษฏิภัทร ศรีหนองโคตร Senior Lawyer บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด, รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คุณนัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-SOGI) และส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาเป็นวิทยากรในครั้งนี้

ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า “ตอนนี้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในขั้นตอนของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งก็จะกลับเข้ามาพิจารณาในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ เรียกว่าเป็นวันที่มีข่าวใหญ่ เพราะว่าจากที่ฟังสัญญาณจากสมาชิกวุฒิสภา หลายท่านมีสัญญาณบวก ดังนั้นพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านแน่นอนไม่มีแก้ไข หลังจากที่กฎหมายผ่านวันที่ 18 มิถุนายนนี้จะมีการทูลเกล้าฯ เมื่อลงพระปรมาภิไธยแล้วหลังจากนั้น 120 วันจะได้รับการบังคับใช้ กะเทยทุกท่านตัดชุดได้ค่ะ”  

ส.ส.ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า “ในปัจจุบันหากเพศชาย และหญิงจดทะเบียนสมรสกัน หากคู่สมรสไปมีสัมพันธ์ กับคนอื่นที่เป็นเพศตรงข้าม คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องได้ แต่หากไปมีสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน คู่สมรสอีกฝ่ายจะไม่สามารถฟ้องได้ ดังนั้นหลังจากที่เราเปลี่ยนแปลงกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ ต้องครอบคลุมทุกเพศด้วย รวมทั้งเรื่องการรับบุตรบุญธรรม เดิมเราสามารถรับบุตรบุญธรรมได้อยู่แล้ว รวมทั้งคู่สมรส สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ฐานะคู่สมรสเลย ในภาษากฎหมายนั้นเรียกว่า “ผู้รับบุตรบุญธรรม” ส่วนบุตรที่รับมาก็เป็น “บุตรบุญธรรม” ตัวบุตรจะไม่ได้ตัดขาดจากสายเลือดพ่อแม่เขา เรามีหน้าที่ปกครอง จ่ายค่าเล่าเรียน ดูแล แต่จะไม่มีสิทธิ์ในมรดก เพราะว่ากฎหมายต้องการให้คนที่รับบุตรไม่ได้หวังผลประโยชน์จากเด็ก” 

“การรับบุตรบุญธรรมยังมีบางเรื่องที่เป็นสิทธิแค่คู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาทางปฎิบัติ สมมุติเรารับบุตรบุญธรรมแค่คนเดียว แล้วมีคู่ชีวิตมาเป็นเพศหลากหลาย ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส วันนึงฝากไปรับลูกที่โรงเรียน หรือว่าต้องมีเหตุฉุกเฉินพาบุตรบุญธรรมไปโรงพยาบาล ในทางปฏิบัตินี้ว่ากันอีกเรื่องนึง แต่ว่าทางกฎหมายเนี่ยถ้าไม่ใช่บุตรบุญธรรมของคู่สมรสที่จดทะเบียนกันแล้ว ก็จะไม่ไม่ได้มีสิทธิ์อะไรที่จะไปตัดสินหรือกำหนดการรักษาได้ ทั้งการรับบุตรบุญธรรมยังมีช่วงเวลาทดลองรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ซึ่งในแง่ปฏิบัติ ถ้าสมมุติว่าทางหน่วยงานราชการเอง ไม่ได้มีองค์ความรู้ หรือว่าความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลายมากขึ้น อาจจะมีมุมมองที่มองว่า ครอบครัวที่เป็นเพศเดียวกันไม่เหมาะสมหรือเปล่า แต่อาจจะไม่ได้บอกตรงๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขิงเจ้าหน้าที่มีผลต่อการรับบุตรบุญธรรม” ส.ส.ธัญวัจน์กล่าวเสริม

ส.ส.ธัญวัจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้เพราะทุกภาคส่วนจริงๆ ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือ เมื่อสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันมีความยินดีปรีดา แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเตรียมพร้อม คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรม หรือการเก็บข้อมูลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปต่างๆ เหล่านี้เราจะต้องมีความพร้อมตามไปทุกกระบวนการ เพราะฉะนั้นสมรสเท่าเทียมมันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งครอบครัว มันจะเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมไป ทำให้เรามีข้อมูลต่างๆ มากขึ้นเพื่อที่จะออกแบบ นโยบายความหลากหลายต่อไป ซึ่งแน่นอนก็มันจะมีกฎหมายคำนำหน้านาม และมีกฎหมายอันนี้แหละระบุเพศที่จะทำให้เติมเต็มการนิยามตัวตนของบุคคล ผู้มีความหลากหลายทางเพศค่ะ”

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงภาพรวมของสังคมไทยเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้ว่า “เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่มีกฎหมายฉบับนี้ โดยภาพรวมทั่วโลกมี 40 กว่าประเทศ แสดงให้เห็นมิติของด้านสังคมที่เกิดขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น เชื้อเริ่มแรกอาจจะย้อนกลับไปปี 2544 เพราะฉะนั้นการเดินทางของกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลากว่าสองทศวรรษ แต่เดิมที่มีการเรียกร้องการมีกฎหมายในลักษณะใดที่จะมีการรับรู้ความมีตัวตนของกลุ่มหลากหลาย ได้รับการยอมรับในสถานะกฎหมาย ในต่างประเทศมีกฎหมายตกลงในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน อีกขั้นนึงขยับขึ้นมาจะเป็นพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ว่าในมิติอยากได้กันเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียมมากกว่า เพราะมีมิติของหน้าที่ สิทธิ มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่จะเพิ่มเติมเข้ามา เราพบว่าสังคมตอนนี้ไปไกลมาก ในด้านมิติของกฎหมายเอง ก็มีความซับซ้อนที่จะทำให้คนสองคนเองสามารถเอื้อมถึงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ เดิมปี 2544 ที่สังคมต่อต้านอย่างรุนแรง แล้วขยับมาในปี 2556 เองที่นำไปสู่การร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป โจทย์ถูกเปลี่ยน ปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น การมีพ.ร.บ. สมรมเท่าเทียมเองถือเป็นการปลดล็อกในครั้งใหญ่”

รศ.ดร.ภูมิกล่าวเสริมว่า “อยากจะบอกว่าสำหรับกฎหมายฉบับนี้เองอาจจะเป็นก้าวที่ช้าใช้เวลา 20 กว่าปีกว่าจะก้าวได้ สำหรับบางคนอาจจะมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวที่ก้าวกระโดด แต่ในขณะที่บางคนมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวสั้นสั้นเล็กๆ เท่านั้นเอง เหตุผลก็เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้เองออกมาไม่สามารถตอบโจทย์ในฝ่ายที่อยากได้กฎหมายนี้ 100% แต่อยากให้มองว่าสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับความหลากหลาย ยอมให้สิทธิ์อะไรต่างๆ มากขึ้น คุณจะต้องใจเย็น ให้โอกาสสังคมได้เห็นกับตาว่า ภายหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว มันจะมีสิ่งที่กระทบอย่างไรต่อสังคมทั่วไปบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีทั้งมิติในเชิงบวก และลบ อยากให้มองว่ากฎหมายนี้เองในอนาคต สามารถแก้ได้อีกเพราะฉะนั้นหลังจากใช้ไปแล้วลองดูว่ามีผลอย่างไรและสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไรในอนาคตบ้าง”

คุณพิศุทธ์ อรรถกมล กรรมการหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัดกล่าวถึงการศึกษาการใช้กฎหมายสมรมเท่าเทียมที่จะนำมาซึ่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดว่า “จริงๆ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ในเนื้อหาการแก้มันเป็นเพียงการไปแก้ในสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว เรื่องของการสมรสตามกฏหมายไทย แล้วการจดทะเบียนสมรสจะต้องจดภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นการให้สิทธิ์ และรับรองสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของคนที่จะเข้าสู่การจดทะเบียนสมรสที่มีอยู่เดิมแล้ว ชายหญิงที่ต้องการเป็นคู่สมรสสร้างครอบครัวกัน กฎหมายไม่ได้บังคับให้จดทะเบียนสมรส เพราะฉะนั้นการที่มาทำพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นเพียงแค่ให้สิทธิ์ขยายไปถึงคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันเท่านั้นเอง คือถ้าเรามองกฏหมายตัวนี้ว่ามันจะเกิดจากการพื้นฐาน เพราะกฎหมายทั่วโลกทุกวันนี้ที่ยอมรับกันว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันใน เชิงกฎหมายทุกคนเข้าถึงสิทธิกัน เป็นเพียงการรับรองว่า คนสองคนต้องการให้กฎหมายเข้ามารับรองการเป็นครอบครัว คู่สมรส สิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้คือ กฎหมานตัวนี้ให้สิทธิ์ แต่ไม่ได้ให้สิทธิ์อย่างเดียว สิ่งที่จะทำมาพร้อมกับสิทธิ คือหน้าที่ และความรับผิด”

คุณพิศุทธ์กล่าวเสริมว่า “หากกฎหมายผ่านแล้วคงจะพูดถึงเรื่องหน้าที่ และความรับผิด การจดทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นแค่การทำตามกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิ ในแง่ถ้าเราเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีบุตร บุตรคนนั้นก็จะกลายเป็นบุตรในสมรส หรือที่ชอบด้วยกฎหมายอัตโนมัติโดย รวมทั้งเรื่องสินสมรสเมื่อคนจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทรัพย์สินที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรส ถือเป็นสินสมรส คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาซึ่งทรัพย์สิน แม้อีกฝ่ายไม่ได้ทำมาหากินแต่หลังจากจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินตัวนั้นเรียกว่าสินสมรส คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ได้ครึ่งหนึ่ง และเมื่อการสมรสสิ้นสุด หรือหย่า หรืออีกฝ่ายหนึ่งตาย สินสมรสที่มีอยู่จะถูกนำมาแบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งตกเป็นของคู่สมรส อีกครึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกของผู้ตาย อันนี้คือสิทธิ การจดทะเบียนสมรสนอกจากนำมาซึ่งสิทธิแล้ว ยังนำมาซึ่งหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ในหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงดูคู่สมรสอีกฝ่าย เพราะจดทะเบียนสมรสกฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่ ทั้งค่าเลี้ยงดู หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน เสื้อผ้า ทั้งสองฝ่ายต่างมีหน้าที่เลี้ยงดูซึ่งกันและกัน หากมีฝ่ายใดต้องการจะทิ้งกันไป คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถที่จะฟ้องเพื่อรับค่าเลี้ยงดูได้ หากไม่ได้ทำการหย่า ในส่วนของความรับผิดในบริบทของการสมรส เรื่องของหนี้ที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อเป็นหนี้ระหว่างสมรสร่วมกันหนี้ก้อนนี้เจ้าหนี้สามารถมาเรียกร้องกับทรัพย์สินส่วนตัวของเราได้นี่ตรงนี้เป็นบริบทที่ตามมาหลังจากการจดทะเบียนสมรสทั้งสิ้น”

“กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่เป็นแค่ก้าวแรก พอสมควรสิ่งที่อยากจะให้ถือโอกาส เอากฎหมายตัวนี้พิจารณาดีๆ และใช้ในงานอย่างมีความรับผิดชอบ ต่อทั้งสำนึก และสังคม ส่วนฝ่ายที่มีความเห็นต่างก็อยากให้ปรับทัศนคติ” คุณพิศุทธ์กล่าวทิ้งท้าย

คุณกฤษฏิภัทร ศรีหนองโคตร Senior Lawyer บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวถึงการถึงสิทธิทางด้านประกัน การลดหย่อนภาษี รวมทั้งภาคเอกชนว่า “ในมุมของนักกฎหมาย กฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่เรามองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะมีการกระทบถึงภาคเอกชน ภาคราชการ สังคมทุกอย่าง ตัวกฎหมายนั้นมีการเปลี่ยนตามกาลเวลาไม่ใช่เพราะสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่อยากให้มองถึงความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ในส่วนของเอกชนทั้งผลิตภัณฑ์ แคมเปญ สิทธิประโยชน์ที่ออกมาก่อนกฎหมาย อย่างต่างประเทศมีคำว่า “เรนโบว์ วอชชิง (RAINBOW WASHING)” การพยายามฟอกตัวขององค์กร ทำเหมือนกับว่าสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อขายของ แต่กลับไม่ได้มีนโยบาย หรืออะไรที่ส่งเสริมสนับสนุนคนหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ในแง่บริษัทเอกชนที่จะศึกษาข้อมูลเอาไว้” 

คุณกฤษฏิภัทรกล่าวต่อว่า “ในส่วนของการลดหย่อนภาษี สิ่งนี้เป็นแนวความคิดของการลดหย่อนภาษีของหญิงทั่วไปอยู่แล้ว ในกรณีที่คู่ของคุณไม่มีรายได้ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (หกหมื่นบาท) อีกสิ่งที่ได้คือได้เพิ่มขึ้น เรื่องประกันสุขภาพ ธุรกิจประกันชีวิตหลายบริษัทปรับตัวไปก่อนแล้ว เพราะว่าจริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ห้ามในการที่จะผู้รับผลประโยชน์เป็นใครก็ได้แต่ในทางปฏิบัติของบริษัทประกัน ก่อนหน้านี้หากจะทำประกันชีวิต จะให้ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ ต้องการเอกสารบางอย่างเพื่อยืนยันว่าบุคคลผู้รับผลประโยชน์เกี่ยวข้องอะไรกัน เพราะป้องกันการทำประกันชีวิตให้ใครก็ไม่รู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์กันได้ วิธีการที่ประกันใช้ในสมัยก่อนที่จะมีพ.ร.บ. จะต้องมีการแสดงหลักฐานว่าอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน หรือคำยืนยันว่าใช้ชีวิตร่วมกันมานานเท่าไหร่แล้ว ถ้ามีการจดทะเบียนสมรสเข้ามา ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการพิสูจน์ขนาดนี้ แต่ในแง่ที่ว่าคู่รักที่มีเพศหลากหลายไม่ได้ต้องการจดทะเบียนสมรสทางการ ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

ส่วนสิทธิการรักษาสุขภาพ ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในสภาวะตัดสินใจได้ ก็จะต้องมีการขอความยินยอม ในที่นี้คือ ทายาทโดยธรรม   คู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น หรือลูกหลาน ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นจริงเยอะมาก เป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันมา แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถที่จะตัดสินใจแทนอีกคนหนึ่งได้ อันนี้เป็นการแก้ไขที่เป็นกรอบสำคัญ เช่นกันปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ไปไกลมาก ทำให้คนเราชีวิตยืนยาวมากขึ้น สักวันนึงเราที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ สื่อสารไม่ได้ พูดไม่ได้ เราสามารถขอศาลตั้งเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ได้ แต่กฎหมายย้ำว่าต้องมีการจดทะเบียนสมรส คู่สมรสถึงจะมีสิทธิ์ที่ศาลจะตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์อนุบาลแทนเรา แต่ถ้าได้จดตรงนี้สิทธิ์ตรงนี้ก็จะไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่ามาทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด”

“เมื่อถึงเวลาได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงคือเรื่องการบริหารการจัดการทรัพย์สินอย่างดี หรือว่าการวางแผนการมีบุตร การรับเด็กคนนึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เราพร้อมหรือเปล่า ถ้ารับเด็กเข้ามาจะต้องมีสิทธิ หน้าที่ ในการเกี่ยวข้องกับมรดกด้วย จะต้องวางแผนสำคัญอย่างยิ่ง ในทางกฎหมายสามารถวางแผนสมรสได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องทรัพย์สิน เพราะจริงๆ มันมีสิ่งที่เรียกว่า สัญญาก่อสมรส มันจะต้องมีการมาคุยกันก่อนว่า ทรัพย์สินส่วนไหนจะไม่ตกเป็นสินสมรส สามารถตกลงกันก่อนได้ ปรึกษาทนายก่อนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมสิทธิ์รวม การที่คนสองคน เป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องนำมาตกลงรวมกันให้ดี เพราะ ณ วันที่ จดทะเบียนแล้ว ทรัพย์สินเหล่านี้มีปัญหาตามมาได้ อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เรา อาจจะเป็นปัญหาที่บุตรบุญธรรม เมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว ลูกๆ เราอาจจะนั่งทะเลาะกันก็ได้” คุณกฤษฏิภัทรกล่าวทิ้งท้าย

คุณนัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-SOGI) กล่าวถึงความระยะเวลา และความไม่เท่าเทียมที่ผ่านมาต่อเพศหลากหลายว่า “ตอนเรียนจบมามีความคิดว่า จะต้องกลับคืนกฎหมายให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศ เมื่อจบขณะนั้นก็เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันเพศชายและเพศหญิง เมื่อออกมาทำงานจริงๆ ก็เห็นกฎหมายคุ้มครองผู้ชาย ผู้หญิงไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดของเรื่องครอบครัว หลังจากนั้นเมื่อได้ทำงานกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ จึงได้รับรู้ว่าผู้หญิงไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของกฎหมาย วัฒนธรรมประเพณี ที่เท่าเทียมกับผู้ชายแล้ว แต่อย่างน้อยผู้หญิงยังมีพื้นที่ในกฎหมาย ในสังคมที่จะบอกว่าผู้หญิงได้รับการคุ้มครองอย่างไร มีสิทธิอย่างไร แต่ในกลุ่ม หลากหลายทางเพศ ไม่มีพื้นที่เลย ไม่มีพื้นที่ในกฎหมายหรือไม่ถูกพูดถึง ว่าจะได้พื้นที่ แม้แต่การบัญญัติใช้คำเฉพาะ เพศหลากหลายในกฎหมายก็ใช้เวลานานมาก เพราะมีมายาคติในประเทศไทย กว่าที่กรมสุขภาพจิตจะรับรอง ว่าเพศหลากหลายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสุขภาพจิต จนปี 2550 เป็นครั้งแรกที่กฎหมายของประเทศไทยจะบอกว่าห้ามเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะแค่เพศชาย เพศเพศหญิง แต่เป็นเพศหลากหลาย ในทางกฎหมายมีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ใช่ เคสมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติกับเพศหลากหลาย” 

คุณนัยนายังกล่าวถึงเมื่อมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วก็อยากให้มองถึงเรื่องครอบครัว “บางครอบครัวที่เป็นเพศเดียวกัน เมื่อรับบุตรมาแล้วบุตรก็ต่างเรียกว่าแม่ทั้งสอง หรือพ่อทั้งสอง ดังนั้นอยากให้เพิ่มนอกจากบิดามารดาและบุตร อยากให้เพิ่มเป็นบุพการีและบุตร เพื่อให้เป็นครอบครัวที่เขาสามารถออกแบบเอง  หลังจากนี้มันจะมีสิ่งที่เป็นกฎหมายอื่นๆ ที่ระบุสิทธิหน้าที่ของผู้หญิงกับผู้ชาย สามีภรรยาไว้ต่างกันอีกหลายฉบับ และในถ้อยคำของกฎหมายฉบับนี้ที่แก้แล้ว ที่ใดก็ตามที่มีพูดถึงสิทธิหน้าที่ของสามีภรรยา จะหมายถึงสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสของกฎหมายนี้ จะมีหลายที่ของกฎหมายอีกหลายฉบับที่กำหนดไว้ว่า สามีหน้าที่อย่างหนึ่ง ภรรยามีหน้าที่อย่างหนึ่ง อีกหลายฉบับยกตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติสัญชาติ จะมีเงื่อนไขในการปฎิบัติ ก็คือว่าคนที่เป็นสามีเป็นคนต่างชาติมาอยู่เมืองไทย อยากได้สัญชาติไทย กระบวนการได้มาซึ่งสัญชาติไทยของสามีผู้ชายคือ ไม่ต้องเรียนภาษาไทย แต่พอเป็นผู้หญิงที่เป็นภรรยาเป็นชาวต่างชาติ อยากให้ภรรยาได้สัญชาติไทย ผู้หญิงต้องเรียนภาษาไทย ถ้าไม่เรียนภาษาไทยจะเป็นเงื่อนไขอันนึงที่ไม่ได้สัญชาติ อันนี้เป็นคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จึงอยากให้มีการพัฒนากฎหมายพวกนี้ต่อไป”

TAGS: #LGBTQ #สมรสเท่าเทียม