แกะปัญหาคู่รักสุดคลาสสิก มีลูกยาก เซ็กส์ ความสัมพันธ์

แกะปัญหาคู่รักสุดคลาสสิก มีลูกยาก เซ็กส์ ความสัมพันธ์
ปัญหาที่ทุกคู่รักต้องจับมือกันแก้ ไม่ว่าจะเป็นคู่ชายหญิง หรือคู่เพศหลากหลายก็มักเจอพบเจอ และเมื่อพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้ จะสามารถมาแก้ปัญหาได้อย่างไร

วันที่ 3 มิถุนายน 2567 นายแพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) จากโรงพยาบาลเวชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรในฟอรัมงาน BANGKOK PRIDE FORUM 2024 โดยทาง The Better ได้จัดในฟอรัมที่ชื่อว่า Thailand: Hub of Medical Center ชวนพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ในหัวข้อเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรล้ำสมัย เพื่อคู่รักทุกคู่ มารับความรู้ และทำความเข้าใจเรื่องการมีบุตรสำหรับทุกคู่รัก และยังได้รับเกียรติจากนายแพทย์อติวุทธ กมุทมาศ Certified Sexologist and Licensed Sexual physician และนายแพทย์พิชญ จงสกุล Preventive Sexual Physician มาให้ความรู้ในหัวข้อ Healthy Sexual Life เพราะเรื่องเพศมีคำตอบ

ปัญหาของทุกคู่รักที่เมื่อแต่งงานและวางแผนจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ การมีบุตรถือเป็นสิ่งที่คู่รักต้องการมากที่สุด หลายๆ คู่ไม่ประสบปัญหา แต่มีอีกหลายคู่ที่เกิดภาวะมีลูกยาก หรือ คู่รักอีกหลายคู่ที่เป็นเพศเดียวกันที่ต้องการบุตรที่ไม่ใช่บุตรบุญธรรม นอกจากปัญหาเรื่องนี้แล้วยังมีปัญหาสุดคลาสสิกนั้นคือ ปัญหาเรื่องเพศ และความสัมพันธ์ที่แทบทุกคู่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต้องเคยประสบพบเจอ

ทางนายแพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) จากโรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ความรู้เรื่องภาวะการมีบุตรยาก และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีในปัจจุบันถึงการทำบุตรแบบวิทยาศาสตร์มีมาแล้วกว่า 40 ปีโดยเริ่มจากการทำ IVF (In-Vitro Fertilization) คือการทำเด็กหลอดแก้วอย่างหนึ่ง แต่ปัจจุบันที่ได้รับความนิยม และได้ผลสำเร็จมากกว่าคือการทำ อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะคัดเลือกตัวอสุจิ (Sperm) ที่แข็งแรง สมบูรณ์ที่สุด 1 ตัว เพื่อผสมกับไข่ (Ovum) 1 ใบ จนเกิดเป็นตัวอ่อน (Blastocyst) ซึ่งจะผสมไข่กับอสุจิโดยการใช้เข็มขนาดเล็กฉีดอสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรงภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ทำให้เกิดการผสมที่แน่นอนมากกว่าวิธีการผสมตัวอ่อนวิธีอื่นๆ

นายแพทย์วรวัฒน์กล่าวว่า "ในขณะนี้ความพร้อมถ้าเป็นคู่สมรสชายชายหญิงด้วยกัน แบ่งเป็น 2 กรณี เราต้องกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่มีลูกได้คือ ต้องมีไข่ มีน้ำเชื้อ แล้วก็มีมดลูก ก็คือต้องมีคนท้อง ในคู่ชายชายจะขาดเยอะนิดนึง จะขาดไข่และมดลูก ซึ่งการได้มาต้องอาศัยการตั้งครรภ์แทน ถ้าเป็นคู่หญิงไม่ยาก ง่ายกว่า เพราะมีไข่อยู่แล้ว มีมดลูกเพื่อตั้งครรภ์อยู่แล้ว ขาดแค่สเปิร์มซึ่งก็หาบริจาคได้เลย ง่ายกว่าตามหลักวิทยาศาสตร์การนำน้ำเชื้อฉีดเข้าไปในผู้หญิง จะเป็นทั้งคนเก็บไข่ และตั้งครรถ์เอง หรือเก็บไข่อีกคนนึงมาผสมกับน้ำเชื้อด้วยวิธี ICSI แล้วก็ย้ายกลับไปอีกคนนึงกลายเป็นว่าผู้หญิงทั้งสองคนมีส่วนร่วมในการมีลูกจะเกิดการครอบครัวมากกว่า"

"แต่ข้อกำหนดของกฎหมายในปัจจุบันทำให้ที่พูดมาทั้งหมดเหมือนจะอยู่ในฝันอยู่แต่ในหลักวิทยาศาสตร์ทำได้ ตอนนี้มี 2 ส่วนหลักๆ ในเรื่องของกฎหมายพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม แม้แต่ปัจจุบันในคู่ชายหญิงก่อนที่จะรักษาการทำเด็กหลอดแก้วก็ยังต้องการจดทะเบียนสมรส เพราะฉะนั้นคู่ชายชาย หญิงหญิง ที่ยังไม่มีทะเบียนสมรสยิ่งยากกว่า ซึ่งตอนนี้เป็นการจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาผู้มีบุตรยากของชายชาย หญิงหญิง โดยใช้เทคโนโลยีการมีบุตร เมื่อจดทะเบียนสมรสผ่านแล้วซึ่งในต่างประเทศสามารถทำได้เช่นเดียวกัน  ในอนาคตกฎหมายอาจจะต้องพัฒนาการทำบุตรด้วยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ให้รับรองเป็นบุตรจริงไม่ใช่แค่บุตรบุญธรรม ศักดิ์ศรีในกฎหมายคงจะไม่เท่ากันอยู่แล้วระหว่างบุตรจริง และบุตรบุญธรรม" นายแพทย์วรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

นายแพทย์อติวุทธ กมุทมาศ Certified Sexologist and Licensed Sexual physician และนายแพทย์พิชญ จงสกุล Preventive Sexual Physician ให้ความรู้ ความเข้าใจถึงเวชศาสตร์ด้านเพศว่างานของ Sexologist คืออะไร เพศวิทยา (Sexology) คือ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องเพศของมนุษย์ ดังนั้น เพศวิทยาคลินิก (Clinical Sexology) จึงหมายถึงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องเพศของมนุษย์ในเชิงคลินิก คือเชิงที่มีทักษะการให้คำปรึกษา  การดูแลสุขภาพเพศ รวมไปถึงการศึกษาให้เกิดความสุขและเป็นอยู่ดี มีสุขภาวะทางเพศ นักเพศวิทยาคลินิกจึงสามารถให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ทำเพศบำบัด แก้ไขปัญหาทางเพศ และให้เพศศึกษาได้

เวชศาสตร์ทางเพศ (Sexual medicine) คือ วิชาทางการแพทย์ที่ดูแลปัญหาสุขภาพเพศ แพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ จึงจะรักษาความบกพร่องทางเพศด้วยยา การผ่าตัด การทำเพศบำบัด และการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพเพศ ดูแลทั้งกาย จิตใจ และสังคม ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาทางเพศทั้งระดับบุคคลและครอบครัว

นายแพทย์อติวุทธ กมุทมาศยกตัวอย่างเคสที่เคยมาปรึกษา “ยกตัวอย่างเช่นเป็นทรานเมนส์ คือผู้หญิงแปลงเพศเป็นชาย หรือเรียกว่าชายข้ามเพศ มากับพาร์ทเนอร์ของเขาที่เป็นผู้ชายเป็นชายเพศกำเนิด ตัวเขาก็งง ทั้งทีมก็งงว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรมาก เพราะการข้ามเพศจากชายมาเป็นหญิง หรือหญิงมาเป็นชายก็ตามอัตลักษณ์ทางเพศของเขาเกิดมาเป็นอย่างนั้น"

นายแพทย์อติวุทธกล่าวต่อว่า "เขาเกิดมาเป็นเพศหญิงแต่เขารับรู้ตัวเองว่าไม่ใช่เพศหญิง แต่เป็นผู้ชาย และเป็นชายที่รักชายหรือพูดง่ายๆ ว่า เกิดมาเป็นเกย์ในร่างของเพศหญิง ก็เลยต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเพศชายเพื่อรักกับเพศชายได้ ซึ่งหากเราไม่ได้ตั้งสมการไว้ชายหญิง หรือว่าเกย์กับเกย์ต้องคุยกัน ความรักแบบนี้เกิดขึ้นได้ ให้มีความสุขทางเพศที่ให้เขาได้รับความรู้จากเราว่าเขาไม่ได้แปลกอะไรในรสนิยมทางเพศแล้วก็เพศที่เราอยากจะเป็น มันอยู่กันคนละแกน"

"สมัยนี้ง่ายมากในการยืนยันเพศสภาพ เริ่มจากเข้ามาพบเราได้เลย ถ้าสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีหมอ ไม่มีเวชศาสตร์ทางเพศเลยไม่กล้าไปหาหมอ ไม่รู้จะหาใครสอน คือหมอเองก็จะไม่รู้เพราะหมอไม่เคยเรียนมา บางทีไปแล้วถูกตีตรามองไม่เข้าใจ การกีดกั้นเรื่องการรักษาพยาบาลในปัจจุบันก็ไม่ต้องห่วง ประเด็นนี้น้อยลงมาก แทบจะไม่มี เรารับปรึกษาคุยเรื่องเพศสภาพ ให้คำปรึกษารวมทั้งให้ฮอร์โมนในผู้ที่ต้องการยืนยันตัวตนทางเพศ แล้วเราก็สามารถให้ข้อมูลได้เลย ข้อดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องพบจิตแพทย์เราให้ได้เลย จะให้พบก็ต่อเมื่อจะผ่าตัดใหญ่ หลายๆ เคสมาปรึกษาผลลัพธ์ที่ได้กลับไปคือ ไม่จำเป็นต้องแปลงเพศแบบสมบูรณ์แบบ เป็นหญิงแบบสมบูรณ์แบบ ดังนั้นความต้องการจริงๆ หรือความพึงพอใจจริงๆ อาจไม่จำเป็นต้องแปลงเพศไปทั้งหมด มันจะมีจุดที่เราพึงพอใจ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเช่น ฮอร์โมน หน้าอก การแต่งกาย การเข้าสังคมการเข้าห้องน้ำ การใช้ชีวิต สุดท้ายถ้ามั่นใจอยากผ่าตัดใหญ่ค่อยว่ากันทีหลัง"

นายแพทย์อติวุทธยังกล่าวต่อว่า สัญญาณอะไรที่ควรจะจับมือกันมาปรึกษาคุณหมอ พูดรวมๆ ได้ทุกคู่รัก เป็นคู่ 2 คน หรือสามสี่คนก็ได้ ให้ดูแลทุกรูปแบบของความสัมพันธ์ เพราะเราไม่ตัดสินว่าอันไหนถูก อันไหนผิด ซึ่งสัญญาณนึงที่มักจะพบคือความถี่ของเพศสัมพันธ์ สมัยก่อนอาจจะมีบ่อยๆ ความสม่ำเสมอปัจจุบันไม่สม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวนแต่อยู่ที่หากสมัยก่อนสม่ำเสมอให้ทุกวัน ปัจจุบันเหลืออาทิตย์ละครั้ง แต่ยังสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากเดี๋ยวมีเดี๋ยวหาย ไม่สม่ำเสมอนี่ก็อาจจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง

TAGS: #สมรสเท่าเทียม #คู่สมรส #มีลูกยาก #เซ็กส์