มหิดลติดท็อป 20 ระดับโลก Impact Rankings 2024

มหิดลติดท็อป 20 ระดับโลก Impact Rankings 2024
มหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 20 ในการจัดอันดับระดับโลกอย่าง Impact Rankings 2024 ของปี 2567 จัดขึ้นโดย Times Higher Education ที่งาน Global Sustainable Development Congress (GSDC) ประจำปี 2567

Times Higher Education สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยจัดงาน Global Sustainable Development Congress (GSDC) ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยครั้งแรกจัดที่ประเทศอังกฤษ และครั้งที่ 2 จัดที่ซาอุดีอาระเบีย และครั้งล่าสุดปี 2567 นี้ เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน วันที่ 10-13 มิถุนายน 2567 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายฟิล บาตี Chief Global Affairs Officer สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อเสริมศักยภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คน สถานที่ และโลกได้ เราเชื่อมโยงชุมชนการศึกษาระดับอุดมศึกษาของโลก ส่งเสริมแนวทางด้านความคิดและความสามารถที่ไร้ขีดจำกัด อีกทั้งช่วยให้นักวิชาการและนักศึกษาบรรลุศักยภาพของพวกเขา เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัย และเชื่อว่าเราจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืนยิ่งขึ้นร่วมกัน โดยในครั้งนี้ THE ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ทั้ง 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ

การจัดอันดับได้เข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งถือว่าเป็นการจัดอันดับหนึ่งเดียวของโลกที่สามารถชี้วัดการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยต่อการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ UN’s SDGs) ประเมินความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนในสี่ด้าน 4 ประกอบด้วย 1) การวิจัย (Research) 2)การบริหารจัดการเชิงบูรณาการ (Stewardship) 3)การบริการวิชาการ (outreach) และ 4) การเรียนการสอน (teaching) โดยมหาวิทยาลัยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ ซึ่ง THE ไม่ได้วัดจากความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ขนาด หรือชื่อเสียง โดยในครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยในเอเชียที่เข้าร่วมจัดอันดับทั้งหมด 222 แห่ง เฉพาะประเทศไทย 77 แห่งที่ติดอันดับ และยังเป็นประเทศ 1 ใน 10 ของโลกที่สามารถติดอันดับมากที่สุด เนื่องจากความโดดเด่นของผลงานที่ผ่านมาทำให้ปีนี้ THE มาจัดงานที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ทางด้านศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล กระทรวง รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับสูงภาครัฐ ประจำ อว. และ สป.อว. เผยทิศทางในการส่งเสริมอุดมศึกษาไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกมากขึ้นด้วยการยกระดับงานวิจัยจากชุมชนให้เป็นสากลมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้ เวิร์กชอป เพราะมหาวิทยาลัยไทยมีความเข้มแข็งด้านนี้อยู่แล้ว ทั้งยังทำงานร่วมกับพื้นที่มากมาย เมื่อเกิดการจัดอันดับขึ้น มหาวิทยาลัยไทยจึงสามารถติดอันดับมากขึ้น กระทรวงมีหน้าที่เข้าไปช่วยว่าสิ่งที่ลงมือทำให้สะท้อนออกมา เพราะจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยไทยมีงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่มีเยอะมาก แต่ไม่สามารถออกมาสากลได้ กระทรวงพยายามช่วยให้เข้าใจ จัดเทรนนิ่ง เวิร์กชอปว่าสิ่งที่ทำสามารถแปลงมาเป็นงานสากลได้

มหาวิทยาลัยมหิดลคือมหาวิทยาลัยอันดับสูงสุดของประเทศไทยในประเภทโดยรวม อยู่อันดับที่ 19 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นเหนือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทยใน 5 เป้าหมายของ SDGs ประกอบด้วย

o เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

o เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

o เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

o เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

o เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

• มหาวิทยาลัยของไทยถึง 2 แห่งที่ถูกจัดอยู่ใน 50 อันดับแรกในประเภทโดยรวม และมีอีกถึง 4 มหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ใน 100 อันดับแรก ยิ่งไปกว่านั้นมีมหาวิทยาลัยอีกกว่า 9 แห่งที่ถูกจัดอยู่ใน 200 อันดับแรก

• ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ในอันดับถึง 77 แห่ง ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก

• ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ติด 100 อันดับแรก และสามารถทำตามเป้าหมายของ SDGs ได้ถึง 15 ข้อจากทั้งหมด 17 ข้อ

• ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมากที่สุดใน 100 อันดับแรกในเป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต  และ เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปีนี้มหาวิทยาลัยไทย 77 แห่งติดอันดับ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11 แห่ง เพิ่มขึ้น 17% มหาวิทยาลัยไทยที่ครองตำแหน่งสูงสุดใน 17 เป้าหมายของ SDGs ประกอบด้วย:

• เป้าหมายที่ 1: ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่อันดับที่ 34

• เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่อันดับที่ 12

• เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย : มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 3

• เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 15

• เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 18

• เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่อันดับที่ 55

• เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 29

• เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่อันดับที่ 25

• เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับที่ 23

• เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่ระหว่างอันดับที่ 201-300

• เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่อันดับที่ 51

• เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่อันดับที่ 86

• เป้าหมายที่ 13: ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างอันดับที่ 101-200

• เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 27

• เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 63

• เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่อันดับที่ 19

• เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับที่ 5

TAGS: #มหาวิทยาลัย #THE #ความยั่งยืน