LGBTQ+ เตรียมตัดชุด จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส

LGBTQ+ เตรียมตัดชุด จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส
นอกจากจะเตรียมตัดชุดแล้ว สำหรับคู่ไหนที่อยากจดทะเบียนสมรส ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง แล้วจูงมือกันไปจดทะเบียนได้!

หลังจากได้ฟังข่าวดีวันนี้ (18 มิถุนายน 2567) เมื่อ "วุฒิสภา"ผ่านฉลุย "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" การประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่มี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว.เป็นประธาน และพิจารณาเสร็จแล้ว

ต่อมา หลังให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นครบทั้ง 69 มาตรา โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 130 ไม่เห็นด้วย 4 และงดออกเสียง 18 เสียง และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้สามารถใช้บังคับได้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง อันเนื่องมาจากการก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีข้อจำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด มีการอุปการะเลี้ยงดู และมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

ซึ่งกรณีการสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจัดการทรัพย์สิน และมรดก กำหนดให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีและภริยา”เพื่อให้ครอบคลุมการก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ชาว LGBTQIAN+ ที่มีความต้องการที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้นควรเตรียมตัว เตรียมเอกสารอะไรบ้างในการจดทะเบียนสมรส

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส 7 ข้อ

  1. อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้ (มาตรา 1448)
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (มาตรา 1449)
  3. ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาจะทําการสมรสกันไม่ได้ (มาตรา 1450)
  4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะทําการสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ (มาตรา 1451)
  5. สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (มาตรา 1452)
  6. หญิงม่ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (มาตรา 1453) เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น สมรสกับคู่สมรสเดิม มีใบรับรองแพทย์ ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์      มีคําสั่งของศาลให้สมรสได้
  7. ผู้เยาว์จะทําการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอํานาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย (มาตรา 1454)

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

  • บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (กรณีบุคคลสัญชาติอื่น ผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
  • หนังสือยินยอม (กรณีผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายเฉพาะสำนักทะเบียนที่ตนเองมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือฝ่ายหญิงเปลี่ยนคำหน้านาม)
  • พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในการจดทะเบียนสมรส

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

  • การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
  • นายทะเบียนตรวจสอบคำร้องและหลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน
  • นายทะเบียนตรวจสอบว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหรือไม่
  • นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนสมรส (คร.2) และใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้ครบถ้วนในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเรื่องอื่น ให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในช่องบันทึก
  • ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอมหรือทำหนังสือให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2)
  • เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส (คร.2) และในใบสำคัญการสมรส (คร.3)
  • นายทะเบียนมอบใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้แก่คู่สมรสฝ่ายละหนึ่งฉบับ รวมทั้งกล่าวอำนวยพรและแนะนำวิธีปฏิบัติในหน้าที่ระหว่างสามีภริยาตามสมควร

ค่าธรรมเนียม

  • การจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • การจดทะเบียนสมรสนอกสํานักทะเบียน ฉบับละ 200 บาท โดยให้ผู้ขอจัดพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร
  • การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
TAGS: #LGBTQ #สมรสเท่าเทียม