ชาวออฟฟิศที่ต้องนั่งในห้องแอร์ทั้งวัน แล้วต้องออกไปเจออากาศร้อนข้างนอกก่อให้เกิดอาการหวัด มีน้ำมูก ปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมพักผ่อนให้หายอาจกลายเป็นโรคร้ายอย่าง “ไซนัสอักเสบ” ได้
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ ให้ความเข้าใจผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบว่า “จริงๆ ถ้าไตเราเสื่อมได้ ตาเรามัวได้ เส้นประสาทการรับกลิ่นก็เสื่อมได้เหมือนกัน อายุเยอะขึ้นจมูกก็ไม่ดี โดยปกติเซลล์รับกลิ่นนั้นจะสามารถสร้างใหม่ได้หากมันตายลง แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการสร้างใหม่จะลดลง หรือเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาจะได้ยินว่ามาจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ใช่แค่โควิด ตระกูลเริมก็สามารถสร้างผลกระทบได้ แต่หลายเคสมาจากอาการที่คาดไม่ถึง คือ โรคหอบหืด คัดจมูก มีน้ำมูกเรื้องรัง มักจะคิดว่ามาจากหอบหืด แต่ไม่เคยตรวจดูไซนัสเลย”
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ยังอธิบายถึงสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักเป็นไซนัสอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ “โรคไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โรคภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ และความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน กลุ่มคนวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานาน ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน พักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย”
“โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม ทั้งยังไม่สามารถหาเวลาพักผ่อนให้หายดี ทำให้หลายคนมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นเรื้อรังได้นอกจากนี้ คนทำงานในเมืองใหญ่ที่มี PM 2.5 เยอะ ๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้นไปอีก สำหรับคนที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง” ผศ.พญ.กวินญรัตน์กล่าว
การได้กลิ่นเหม็น อีก 1 อาการของไซนัสอักเสบ
กลิ่นภายนอกนั้นไม่เกี่ยวอะไร ไม่ว่าจะมีกลิ่นหอม หรือเหม็นมาจากตรงไหน แต่การได้กลิ่นเหม็นมาจากภายในจมูก เนื่องจากเกิดจากน้ำมูกที่ขังอยู่ในจมูก หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กลิ่นขอหนองที่ขังอยู่ข้างใน นอกจากการได้กลิ่นเหม็นแล้วนั้น ยังมีอาการไม่สามารถรับกลิ่นได้ เนื่องจากหายใจเข้าไปแล้วไม่ถูกเซลล์รับกลิ่น หรือตัวไซนัสอักเสบไปทำให้เซลล์รับกลิ่นที่เชื่อมต่อกับสมองของเรา ทำให้เซลล์ประสาทตรงนี้มีปัญหา หลังจากรักษาหายแล้วบางคนอาจจะไม่สามารถกลับมารับกลิ่นได้เหมือนเดิม หรือความสามารถลดลง เนื่องจากการเชื่อมต่อเส้นประสาทเกิดไม่เหมือนเดิม จะต้องมีการทำ Smell Training คือการให้ฝึกดมกลิ่น คล้ายๆ การทำกายภาพ ให้การบ้านคนไข้ไปดม แล้วคิดว่าคือกลิ่นอะไร อย่างไรก็ตามเนื่องจากเซลล์ประสาทที่ตายไปไม่สามรถฟื้นได้ 100%
ไซนัสอักเสบแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
- โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย มีอาการของหวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียสร่วมกับน้ำมูกขุ่นข้นหรือปวดบริเวณใบหน้านานติดต่อกันเกิน 3-4 วันตั้งแต่เริ่มป่วย มีอาการแย่ลงหรืออาการกลับเป็นซ้ำหลังจากอาการทุเลาลงแล้ว สาเหตุอื่นๆ เช่น สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น
- โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆได้
อาการหลักที่พบบ่อย ได้แก่ อาการคัดหรือแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลออกมาทางรูจมูกด้านหน้าหรือไหลลงคอ มีอาการปวดหรือแน่นบริเวณใบหน้า มีการรับกลิ่นเสียไป มีไข้ (ในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน) และบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน ไอ เป็นต้น
การรักษา
- ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด, ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ยาปฏิชีวนะนาน 10-14 วัน โดยชนิดของยาที่ให้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาในแต่ละราย ควรพบแพทย์
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
- ทางตา อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
- ทางสมอง อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่วมกับไข้สูง เป็นต้น