โรงเรียนคือสถานที่มอบโอกาส ”รินรดา อัญรัตน์รุ่งโรจน์“ "ทรานเจนเดอร์" คนแรกของไทยที่สร้างชื่อระดับโลกในวงการเต้น
รินรดา อัญรัตน์รุ่งโรจน์ หรือ ครูหมวย ครูสอนเต้นที่วงการนักเต้นประเทศไทยต้องรู้จักกันอย่างดี ไม่ว่าจะเพราะเธอคือ "ทรานเจนเดอร์" คนแรกของไทยที่สร้างชื่อระดับโลกในวงการเต้น หรือจะมาจากการเปิดโรงเรียนสอนเต้นในชื่อ Dance Guru Thailand แต่หลายคนเรียกว่า โรงเรียนครูกะเทย
จากการเดินตามพี่สาวไปเรียนเต้นด้วยกันเมื่ออายุ 12 ปี จับพลัดจับผลูโชว์ทักษะการเต้นได้ดีจนเข้าตาครูสอนเต้น ผลักดันให้เธอได้ออกสู่โลกแห่งการเต้นระดับนานาชาติครั้งแรก เส้นทางที่ไม่ได้มีโอกาส และการสนับสนุนจากที่ใด แต่เป็นการทำงานด้วยสองมือของตัวเอง จนวันนี้ที่ครูหมวยกลายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เวทีประกวดเต้นระดับโลกหลายเวที
“สถาบันศึกษาคือสถานที่ที่คนเข้ามาเพื่อรับโอกาส และคุณเป็นคนที่มอบโอกาสให้กับเขา” ประโยคที่ครูหมวยย้ำตลอดการพูดคุยกัน และเธอยังตอกย้ำคำพูดนี้ด้วยการพลิกโฉมการประกวด ที่ให้ความสำคัญกับทุกผู้เข้าประกวด ปรับกติกาเพื่อความยุติธรรมแก่ผู้เต้นทุกสาย
เพราะทุกความพยายาม ทุกความปรารถนาสามารถเกิดขึ้นจริงได้หมด
โรงเรียนสอนเต้น เป็นมากกว่าการเต้น
“เต้น” ไม่ใช่แค่งานอดิเรก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เราตัดสินใจที่จะเปิดโรงเรียนสอนเต้นชื่อ Dance Guru Thailand ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับห้างแห่งนี้ เราได้ผลิตลูกศิษย์ แล้วก็บรรลุเป้าหมายที่จะส่งเด็กเด็กไปแข่งเข้าประกวดในรอบสุดท้ายในต่างประเทศ หรือการสอบติดในโรงเรียนต่างๆ แต่เราก็เจอวิกฤตโควิดเข้าไป ช่วงนั้นครูหมวย ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพียงคนเดียวในการเป็นกรรมการการแข่งเต้นรำ Korea Dance Organization ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาเปิดองค์กร TDO หรือ Thailand Dance Organization เพื่อที่สามารถซื้อลิขสิทธิ์เวทีเหล่านี้มาประกวดในประเทศไทยให้ได้ รวมทั้งย้ายโรงเรียนมาเปิดที่ Gateway บางซื่อ ซึ่งโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตร Royal Academy of dance อังกฤษ และ Austrian Teachers of dance ออสเตรเลีย เราสามารถเซ็นรับรองให้เด็กไปเรียนต่อได้
แม้จะถูกคนจากโรงเรียนอื่น หรือ ผู้ปกครองจากโรงเรียนอื่น พูดว่าเป็น “โรงเรียนครูกะเทย” แต่ครูหมวยกลับมองว่าเป็นข้อดี ถือว่าเป็นจุดขายใครอยากจะพูดอะไรก็พูด เพราะเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราสามารถที่จะส่งเด็กของเราไปเรียนต่อได้ สามารถคว้ารางวัลต่างๆกลับมาได้
นักเรียนคนแรกของเรารักการเต้นมาก แต่เขาก็มีความฝันอยากเป็นหมอมาปรึกษากับครูหมวยว่าเขาสามารถเป็นหมอได้หรือไม่ เพราะเขาเรียนสายศิลป์มา เราตอบว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เราไม่ได้ผลักให้นักเรียนของเราไปเป็นนักเต้นแค่เพียงอย่างเดียว แต่เราสอนให้เด็กๆ เชื่อมั่นในตัวเอง เมื่ออยากเป็นหมอ ก็ต้องไปสอบหมอ สุดท้ายนักเรียนคนแรกของเราสอบหมอติดเรียนที่อังกฤษ นักเรียนคนที่สองเปิดโรงเรียนเต้น 3 สาขา เก่งกว่าเราอีก เค้าก็มาปรึกษาเรา และเราก็ให้โอกาส เพราะเรารู้ว่าสถาบันการศึกษาคือที่ๆ ให้โอกาสคน เราไม่ปิดกั้นโอกาส หรือนักเรียนของเราอีกคนที่ได้ ได้ทุน 100% เรียนเต้นที่สิงคโปร์ และก็ได้ติดต่อให้เป็นนักเต้นอยู่ที่นั่น
ต้องขอบคุณ KPop ที่ทำให้คนไทยรู้จักการเต้นมากขึ้นเพราะเราต้องยอมรับว่าศาสตร์การเต้นเป็นเรื่องที่ด้อยที่สุดในสายของศิลปะ แต่การเข้ามาของเคป๊อบ ทำให้ทุกคนอยากเต้น คำถามก็คือ เต้นแล้วไปทำอะไรได้ต่อ เต้นไปเรียนต่อต่างประเทศได้ เรียนระดับมหาวิทยาลัยได้เลยค่ะทั่วโลก มีทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อ
เพราะในประเทศไทยเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนกันเองที่จะมองเห็นคุณค่าของการเต้น ทุกอย่างที่หมวยทำในวันนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนไหนเลย แม้เราจะพยายามส่งจดหมายขอความช่วยเหลือ หรือเรียนเชิญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแล้วก็ตาม แต่ก็เกิดการเมินเฉย จึงอยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของโอกาสสำหรับคนกลุ่มนี้ด้วย
เวทีประกวดที่ให้ความสำคัญทั้ง ผู้ชนะและผู้แพ้
การแข่งขัน “TWBT Thailand Stage” คือการพลิกโฉมการประกวดเต้นที่เคยมีมา แน่นอนว่าเมื่อเป็นเวทีกะเทยก็ต้องไม่ธรรมดา เริ่มจากเราแท่นลำดับ 1 2 3 เพราะเรารู้สึกว่าการฝึกซ้อมมา 200 ชั่วโมงเค้าจะต้องได้รับความภาคภูมิใจเมื่อเขาชนะและแน่นอนว่าเราไม่ทิ้งผู้แพ้ไว้ข้างหลัง เราจะทำเหรียญเงิน เหรียญทองแดง ให้กับคนที่ได้คะแนนตามเกณฑ์ เพราะสิ่งที่สำคัญคือบางคนไม่ใช่เค้าไม่เก่ง แต่เค้ากำลังจะเก่งและจุดๆ นี้ อาจจะเป็นจุดพลิกชีวิตเขา ว่าจะสู้ต่อ หรือจะหยุดและการหยุดเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า การเรามอบบางสิ่งบางอย่างให้กับเขา มันเป็นเหมือนการให้กำลังใจกัน เพราะทุกการแข่งขันผู้แพ้มักจะได้กำไรกว่าคนที่ชนะเพราะเขาได้เรียนรู้บางอย่าง
เราเปลี่ยนวิธีการตัดสินจากเดิมจะมีกรรมการเพียงแค่ 1 คน เราเพิ่มกรรมการเป็นทั้งหมด 9 คน จากทุกสายการเต้นเพื่อตัดสินให้ตรงกับผู้เข้าประกวด คนๆ เดียวไม่สามารถที่จะเก่งในทุกๆ สายได้ มันจึงไม่ยุติธรรมหากต้องให้คนเดียวมาตัดสินผู้เข้าแข่งขันในทุกสายการเต้น และเรายังปรับการสมัคร และอยากเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะไม่ได้สังกัดกับโรงเรียนไหน จะเรียนเต้นกับ YouTube ที่บ้านก็สามารถมาประกวดได้และล่าสุดการประกวดครั้งนี้มีผู้เข้าประกวดทั้งหมด 850 คนจาก 13 ประเทศ กลายเป็นการประกวดระดับนานาชาติไปเลย และผู้ชนะได้สิทธิ์ไปแข่งขันต่อใน “TWBT Tokyo Stage” ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2567
เมื่อประกวดเสร็จแล้วหลายๆ คนก็นำไปใส่ Portfolio เพื่อที่จะยื่นเข้าศึกษาต่อ และเนื่องจากเราเคยเป็นคนที่ได้รับทุนการศึกษามาก่อน เราจึงมีทุนการศึกษาเยอะมาก การแข่งขัน “TWBT Thailand Stage” มีทุนการศึกษามากกว่า 40 ทุน 20 ทุนมาจากประเทศอินโดนีเซีย อีก 10 กว่าทุนจากประเทศจีน และยังมีทุนจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เพราะเรารู้สึกว่าอะไรที่ดีที่เราเคยได้รับมาเราอยากจะส่งต่อให้กับคนอื่น หมวยว่าเราได้ทำดีที่สุด ณ จุดของคำว่าเวทีแล้ว หลายๆ วิธีอาจจะเป็นการมอบเงินให้ แต่เวทีของเราเห็นว่าการต่อยอดทางการศึกษาสำคัญที่สุด เพราะเรารู้ว่าเมื่อเขาได้รับ เมื่อเขาได้ไป เขาได้อะไรกลับมาแน่นอน แม้ว่าสุดท้ายแล้วเค้าอาจจะไม่ชอบการเรียนต่อ แต่อย่างน้อยเขาได้รู้จักการใช้ชีวิตในต่างแดน วัฒนธรรมในประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่การเรียนรู้ภาษา
ทุกคนกลับมาความคิดเปลี่ยน บางคนอาจจะชอบเต้นมากขึ้น บางคนอาจจะรู้สึกว่าการเต้นไม่ตอบโจทย์เขา
วันนี้การที่หมวยทำเวทีมาต่อยอดเปิดโอกาสให้เขามีที่ให้ติดต่อกัน การได้รับทุนการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะได้รางวัลที่เท่าไหร่ ทุนไม่ได้เป็นของคนที่เก่ง แต่จะเป็นของคนที่ตอบโจทย์ บางครั้งเรายังคิดว่าทุน 40 กว่าทุนจะเยอะไปหรือเปล่า แต่เราก็รู้สึกว่าโอกาสมันจะต้องมีให้อย่างทั่วถึงและเข้าถึง
โอกาสเป็นของคนที่พร้อมและมีจิตใจที่เข้มแข็ง
หมวยเริ่มเส้นทางนี้จากการเป็นเพื่อนเรียนเต้นกับพี่สาว และรู้ว่าตัวเองเป็นตุ๊ดตั้งแต่เด็ก แต่โชคดีที่ครอบครัวหมวยให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว ให้ความรักกับคนในครอบครัวมากกว่าคนนอก หมวยจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการเปิดตัวแบบที่คนอื่นเป็น ต้องยอมรับว่าสมัยนั้นสังคมรอบตัว ที่ทำงานคุณพ่อ ที่ทำงานคุณแม่ ยังไม่ยอมรับ
เมื่อไหร่ที่ครอบครัวเราเข้มแข็ง ไม่มีอะไรจะทำร้ายเราได้
จึงทำให้เราไม่มีความกลัว ไม่มีปัญหาอะไร ทำให้เราเป็นคนคิดบวก ลืมความคิดแง่ลบ แล้วชีวิตเราก็ง่ายขึ้นหลังจากที่ได้เรียนกับพี่สาวครั้งนั้น ครูเลยอยากให้เราไปต่อ เริ่มจาก Jazz Dance ที่เป็นหลักสูตรของ CDA จากออสเตรเลีย เราถือเป็นรุ่นแรกของประเทศไทย และมาต่อด้วยบัลเล่ต์จาก RAD จุดพลิกผันอยู่ตรงที่ ผู้คุมสอบเห็นเราและรู้สึกว่าเราสามารถไปต่อได้อีก จึงให้เราไปออดิชั่น เพื่อที่จะเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ ณ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราสอบติดทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่ผลออดิชั่นออกมาว่าเราสอบติดที่นั่นเหมือนกัน และเราตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์
ปีแรกหมวยเลือกเรียนเป็นสายคลาสสิก เนื่องจากเราไม่รู้จัก contemporary เพราะเราเรียนบัลเล่ต์มา เราเรียนแบบคลาสสิกมา อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ เพราะเราตัวเล็กใครมองก็รู้ว่าเป็นตุ๊ด และการคลาสสิกคือต้องจับผู้หญิงยกสูงเหนือหัวให้ได้ และเราทำไม่ได้ไม่ว่าจะพยายามยกน้ำหนัก ออกกำลังกายขนาดไหน เราก็ตัวใหญ่ให้ทันใช้งานไม่ได้อยู่ดี เพราะสายนี้จะต้องแยกชายหญิงอย่างชัดเจน จึงทำให้ปีสองเราเลือกที่จะไปสาย contemporary ที่มีความร่วมสมัยไม่มีกรอบ การเรียนสายคลาสสิกเราก็ได้คะแนนดี แต่เราก็ต้องยืนยันกับอาจารย์ว่าเรารักที่จะเต้นในสายร่วมสมัยมากกว่า ต้องยืนยันด้วยประโยคเดิมซ้ำๆอย่างนั้นจนอาจารย์ใจอ่อน ยอมให้เปลี่ยนสายและเราก็รู้สึกมีความสุขมากๆ และเมื่อเรียนจบเราจึงเป็น ทรานเจนเดอร์คนแรกของไทย ที่จบจากที่นั่น
สมัยนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่บ้านไม่ได้บอกอะไรเรา แต่เค้ายังสนับสนุนให้เราไปเรียนที่นั่น โชคดีที่เราได้รับทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตปกติก็ไม่ได้เยอะมากนักเพราะที่บ้านไม่ได้ส่งมาให้เยอะมาก ใช้ชีวิตที่นู่นสองปีเต็มด้วยการเป็นนักเรียนไปด้วยและทำงานที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งไปด้วย ชีวิตประจำวันคือ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็นเรียนหนังสือ หนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่มทำงานที่ร้าน เป็นอย่างนี้เจ็ดวัน จนเราเรียนจบ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากที่บ้าน
เมื่อกลับมาไทยเราจึงรู้สึกว่าสายนักเต้นได้เงินน้อย จึงไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วเรียนปริญญาโทต่อ ในช่วงการสัมภาษณ์เพื่อเรียนปริญญาโท ก็มีบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าประเทศไทยยังมีเรื่องแบบนี้อีก การสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ได้พูดกับเราว่า หากไม่ผ่านไม่ต้องเสียใจนะ ทั้งทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มสัมภาษณ์กันเลย เราเลยรู้สึกว่านี่คืออคติทางใจของเขาที่มีต่อเรา เค้าไม่ได้ประเมินเราที่ศักยภาพและคุณสมบัติ แต่ประเมินเราที่รูปลักษณ์ภายนอก เราจึงตอบกลับไปว่า สถาบันศึกษาคือสถานที่ที่คนเข้ามาเพื่อรับโอกาส และคุณเป็นคนที่มอบโอกาสให้กับเขา แต่ ณ วันนี้สถานที่การศึกษาเป็นสถานที่ที่เลือกที่จะให้โอกาสกับแค่คนบางคน ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ แต่กับอีกที่หนึ่งสามารถผ่านไปได้อย่างดี และเราก็สัมภาษณ์ที่นั่นด้วยชุดกระโปรงสอบเอวสูง เสื้อแขนพอง เป็นตัวของตัวเอง และได้โชว์ศักยภาพและความสามารถของเราแบบที่เขาเปิดรับ
หลังจากเรียนจบแล้วก็มาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังรู้สึกว่าโรงเรียนแห่งนั้นไม่ได้ตอบโจทย์เรา ไม่ได้เห็นความสำคัญของครอบครัวเรา เราจึงรู้สึกว่ามันขัดกับสิ่งที่เราตั้งใจ จึงออกมาช่วยที่บ้านทำธุรกิจแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ทางของเรา แต่ในเวลานั้นมีรับงานเต้นที่ไม่ใช่งานประจำ ให้กับอีเวนท์ต่างๆ รวมทั้งเต้นบนเวทีคอนเสิร์ตของแกรมมี่ และได้รับโอกาสได้เต้นเป็นผู้หญิง แต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เป็นเพราะเรากล้าที่จะโชว์ขึ้นสลิง กล้าที่จะแสดงออก พี่ๆ ในวงการจึงได้เห็นศักยภาพของเราอีกเช่นกัน เพราะเรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเด็กศิลปะ everything is possible
หลังการพูดคุยที่ได้เห็นถึงความตั้งใจและการสร้างโอกาสให้กับเด็กในรุ่นถัดไป เราสัมผัสได้ว่า วิธีการประกวด เวทีที่ครูหมวยสร้างขึ้นมาตอนี้ รูปแบบของกติกา รางวัลที่เปลี่ยนไป มาจากตัวของครูหมวยที่ได้รับโอกาส ได้รับความรัก และมีพลังงานบวกให้กับเรื่องราวในชีวิต ที่หลายๆ เรื่องราวไม่ได้ง่ายที่จะผ่านไปได้ ทำให้การส่งต่อโอกาสและการมองเห็นความสำคัญของทุกคนมาจากความเป็นตัวของครูหมวยเอง หวังว่าในอนาคตวงการนักเต้นไม่ว่าจะเป็นแบบร่วมสมัยหรือแบบคลาสสิก จะได้รับการผลักดันให้ถูกมองเห็นถึงศักยภาพที่สามารถไปต่อได้ในระดับโลก