แม่ยุคใหม่ไม่ได้ให้ลูก “กินน้ำนม” ช่วง 6 เดือนแรก เหตุเพราะเครียดเรื่องงาน

แม่ยุคใหม่ไม่ได้ให้ลูก “กินน้ำนม” ช่วง 6 เดือนแรก เหตุเพราะเครียดเรื่องงาน
ทารกไทยเกินครึ่งไม่ได้กิน "น้ำนมแม่” ช่วง 6 เดือนแรก เหตุคุณแม่ยุคใหม่เครียดต้องทำงาน กุมารแพทย์ห่วงกระทบสุขภาพ-การเติบโต

“น้ำนมแม่” อาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด เต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นมากมาย แต่คุณแม่หลายคนกลับประสบปัญหาน้ำนมน้อย เพราะปัจจุบันคุณแม่หลายคนต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย ทำให้เกิดความเครียด และด้วยความเครียดจากการทำงาน แถมควบคู่กับการให้นมลูก ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก 

ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 ของยูนิเซฟชี้ว่ามีทารกเพียง 1 ใน 3 ส่วนของคนไทยที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมายโลกและน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก จะขาดโอกาสในการรับสารอาหารที่มีในนมแม่ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย วันนี้ พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช รพ.วิมุตจะมาอธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของน้ำนมแม่ พร้อมแนะนำวิธีเพิ่มน้ำนมให้เพียงพอ เพื่อให้เด็ก ๆ ของทุกคนเติบโตมาอย่างแข็งแรง

นมแม่เป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กทารก เนื่องจากมีสัดส่วนสารอาหารที่เหมาะในการย่อยและดูดซึมสำหรับทารก ซึ่งนอกจากเจ้าตัวเล็กจะได้สารอาหารเพียงพอ ยังช่วยให้ย่อยอาหารและดูดซึมง่าย เสริมภูมิต้านทาน ช่วยลดการติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร นอกจากนี้เด็กที่ดื่มน้ำนมแม่จะน้ำหนักขึ้นเร็ว แถมยังช่วยเสริมสร้าง EQ กับ IQ ให้กับเด็กด้วย พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย อธิบายเสริมว่า "คุณแม่ทุกคนควรให้น้ำนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมแม่จะปรับสารอาหารให้เหมาะกับช่วงอายุของลูก โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ น้ำนมระยะที่ 1 (Colostrum) จะหลั่งออกมาในช่วงประมาณ 1-3 วันหลังคลอด มีพลังงานและภูมิต้านทานสูง ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ขับถ่ายง่าย

ต่อมาในน้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk) จะหลั่งออกมาในช่วงสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่สอง น้ำนมในช่วงนี้จะสะสมโปรตีน วิตามิน รวมถึงพลังงานอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อทารก สุดท้ายคือน้ำนมระยะที่ 3 (Mature Milk) เป็นน้ำนมที่หลั่งออกมาหลัง 2 สัปดาห์ และสามารถให้ต่อเนื่องได้ถึง 6 เดือน โดยปริมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสัดส่วนของสารอาหารในน้ำนมแม่สอดคล้องกับการเติบโตของลูกน้อยของเรา"

เนื่องจากชีวิตของผู้คนในตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน คนเป็นแม่หลายคนยังต้องทำงานพร้อมกับการเลี้ยงลูก ทำให้เวลาพักผ่อนน้อยลง และไม่มีเวลามาปั๊มน้ำนมเตรียมไว้ ซึ่งการปั๊มนมไม่สม่ำเสมอหรือไม่ครบรอบก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำนมมีปริมาณน้อยลง โดยเบื้องต้นคุณแม่สามารถเพิ่มน้ำนมได้ด้วยตนเองผ่านการปรับพฤติกรรม หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หรืออาจต้องปั๊มนมให้ถี่และสม่ำเสมอขึ้น เพื่อกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนที่สร้างน้ำนม ทานอาหารเสริมหรือสมุนไพร เช่น ขิง หัวปลี สามารถช่วยเสริมสร้างการผลิตน้ำนมได้เช่นกัน 

ส่วนเวลาให้นมลูกก็ควรใช้ท่าที่ถูกต้องและสบาย เพื่อให้คุณแม่สามารถอยู่ในท่าให้น้ำนมได้นานและช่วยให้ทารกดูดน้ำนมได้ง่ายยิ่งขึ้น พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย เล่าต่อว่า “หากทำตามวิธีเบื้องต้นแล้วยังไม่ช่วยแก้ปัญหา คุณแม่สามารถมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ในบางกรณีแพทย์อาจจ่ายยากระตุ้นน้ำนมร่วมด้วย

อันตรายจาก 'นมผง' หากเลือกไม่ถูกวิธี

ปัจจุบันนมผงหลายยี่ห้อพยายามใส่ส่วนผสมเพื่อให้เทียบเคียงกับน้ำนมแม่ แต่ไม่สามารถดูดซึมได้ง่ายเหมือนนมแม่ และไม่ใช่ทุกชนิดจะเหมาะกับเด็กทุกคน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อนมผง เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. ใช้สูตรที่เหมาะสมตามช่วงวัย นมผงบางสูตรเหมาะสำหรับให้เด็กขับถ่ายได้สบายท้อง สูตรสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว สูตรต่อเนื่องตามอายุ หรือบางสูตรเหมาะสมหรับเด็กป่วยที่ขาดเอนไซน์บางชนิด ซึ่งไม่สามารถกินนมแม่ได้ เป็นต้น

“เข้าใจว่าปัจจุบันคุณแม่หลายคนต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยจนเหนื่อยและเครียด ร่างกายเลยผลิตน้ำนมออกมาไม่เพียงพอ แต่ก็อยากให้คนเป็นแม่ทุกคนหาเวลาดูแลตัวเองให้มากขึ้น พักทำกิจกรรมผ่อนคลายตัวเองบ้าง และนอนพักให้เยอะ ๆ ก็ช่วยให้ผลิตน้ำนมได้เยอะขึ้น ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็อาจใช้นมผงร่วมได้ แต่อยากให้ใช้ให้น้อยที่สุด และเลือกอย่างระมัดระวัง ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไว้ใจได้และเหมาะกับลูกของเรา หรือจะเข้ามาปรึกษาแพทย์โดยตรงเพื่อหาวิธีเพิ่มน้ำนมก็ได้เช่นกัน คุณแม่จะได้หมดกังวลเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ และช่วยให้ลูกของเราเติบโตมาได้อย่างแข็งแรง” พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย กล่าวทิ้งท้าย

TAGS: #น้ำนมแม่ #นมแม่ #แม่