เช็ก 2 อาการหลักสัญญาณเตือน “โรคซึมเศร้า” ที่พบได้ทุกวัย

เช็ก 2 อาการหลักสัญญาณเตือน “โรคซึมเศร้า” ที่พบได้ทุกวัย
​ในปัจจุบันการรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามีเพิ่มมากขึ้น สัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าในแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกันเล็กน้อย แต่มีอาการผิดปกติที่อาจพบได้ในทุกช่วงวัย

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่มีความรู้สึกเศร้าเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกสนุกหรือมีความสุข และก่อให้เกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก

พ่อแม่หลายท่านมักกังวลว่าเมื่อลูกเราโตขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่วัยเรียน อาจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคม จนบางครั้งลูก ๆ อาจพบความเครียดสะสมและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าในเด็ก นอกจากเรื่องของพันธุกรรมและสารเคมีในสมองไม่สมดุลแล้ว ในวัยเด็กยังมีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกเลี้ยงดูที่เข้มงวดจนเกินไป, การถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งหรือบูลลี่เป็นประจำ, ตัวเด็กเองขาดความมั่นใจในตัวเองจนรู้สึกกับตัวเองในแง่ลบ, และประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก หรือถูกทำร้ายร่างกายในวัยเด็ก

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการปรับตัวในหลายด้านพร้อม ๆ กัน เช่น การเรียน การเข้ากันได้กับเพื่อน ความสัมพันธ์หนุ่มสาว หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายและมากกว่าวัยอื่น ๆ เพราะฉะนั้นในคนที่มีความสามารถในการปรับตัวน้อย จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าในง่ายกว่าคนที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี นอกจากนี้ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นจะมีความหุนหันพลันแล่น เมื่อทำอะไรผิดพลาดก็จะเกิดอาการผิดหวังและรู้สึกเศร้าเสียใจซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ โดยยังพบว่าวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มในการพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น

โรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน

วัยทำงานเป็นวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด เนื่องจากวัยทำงานเป็นวัยสร้างครอบครัวและเป็นวัยที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แบกรับความกดดันและความคาดหวังที่สูง อีกทั้งหลายคนอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลสะสมโดยไม่รู้ตัว และอาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

โรคซึมเศร้าในวัยผู้สูงอายุ

วัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมถอยของสุขภาพ ผู้สูงอายุบางท่านเริ่มมีความคิดโทษตัวเองที่เป็นภาระของลูกหลาน และผู้สูงอายุหลายท่านเกิดความรู้สึกเหงาเพราะลูกหลานทำงานจนไม่มีเวลาให้ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ โดยจากงานวิจัยของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าผู้สูงอายุกว่า 70% มีภาวะซึมเศร้า และ 15% มีภาวะโรคซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าในแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อาการผิดปกติที่อาจพบได้ในทุกช่วงวัย ได้แก่ มักมีอารมณ์ทางลบ ที่ไม่ใช่แค่อาการเศร้า เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย, ไม่อยากอาหารหรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ, นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากกว่าปกติ, เฉื่อยชา ชอบเก็บตัว และอีกอาการคือ อาการสิ้นยินดี เช่น มีความสนใจจากสิ่งที่เคยชอบลดลง, ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลง, รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นต้น

การรักษาโรคซึมเศร้าของแต่ละช่วงวัยจำเป็นต้องให้จิตแพทย์พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหากมาพบแพทย์ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงก็มีโอกาสรักษาหายขาด และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขได้อีกครั้ง

ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเข้าใจ

ความเจ็บป่วยทางด้าน “สุขภาพจิต” ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ยังส่งผลถึงคนรอบข้างอีกด้วย ไม่ต่างจากปัญหาสุขภาพกาย ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใกล้ตัวยิ่งขึ้น  จากสถิติขององค์การอนามัยโลกมีข้อมูลว่าปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลกสูงขึ้น โดยอาจจะมาจาก 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่  1. สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป   2. ภาวะตึงเครียดในการดำเนินชีวิตที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป 3. ความเป็นอยู่ในด้าน การกินและการอยู่อาศัย ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วย

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระบบสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า จากการเก็บสถิติเมื่อปี 2563-2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมจำนวนถึง 1.1 ล้านราย และมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการรับรู้ และให้ความสำคัญกับเรื่องของการเจ็บป่วยทางจิตใจมากขึ้น ทำให้เข้ามารับการรักษามากขึ้น ความยอมรับในด้านความเจ็บป่วยทางจิตในสังคมไทยดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก  ประกอบกับ ประเทศไทยมีการจัดระบบบริการที่ดีขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามารักษาในระบบมากขึ้น

หลายคนอาจจะกังวลว่าตนเองจะปฏิบัติตนอย่างไรกับผู้ป่วยดี กลัวว่าจะพูดอะไรไม่ถูก กลัวจะทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง ดังนั้นจึงอยากชวนให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกันกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น

  • ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีใครอยากเป็น ไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ หรือ คิดไปเอง แต่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของสมอง ที่ส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ พฤติกรรม
  • พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ พูดคุยกับผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างสม่ำเสมอ แสดงความห่วงใย รับฟังอย่างตั้งใจ และหลีกเลี่ยงการตัดสินหรือตำหนิ ไม่จำเป็นต้องถามถึงสาเหตุว่าทำไมถึงป่วย
  • แนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา แนะนำผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือพาไปด้วยกัน หากผู้ป่วยต้องการ แนะนำให้ทำตามที่แพทย์แนะนำเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • ตั้งขอบเขต การช่วยเหลือเท่าที่เราทำได้ ตั้งขอบเขตที่ให้ชัดเจน บอกผู้ป่วยว่าคุณสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง และอะไรที่คุณไม่สามารถช่วยได้ เพื่อไม่เป็นการสร้างความหวังกับผู้ป่วย หรือสร้างภาระให้กับตนเอง
  • การรักษาโรคซึมเศร้าต้องใช้เวลา อดทนกับผู้ป่วยซึมเศร้าและอดทนกับตัวเอง อาจมีวันที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น และอาจมีวันที่ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลง สิ่งสำคัญคือต้องอยู่เคียงข้างพวกเขาและให้กำลังใจพวกเขาเสมอ
  • กิจกรรมช่วยหลั่งสารความสุข ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบา ๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ นอกจากจะลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และคิดหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา
  • เป็นผู้รับฟังด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยความตั้งใจ และท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่

สิ่งที่ไม่ควรทำแก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า 'เมื่อไหร่จะหาย' หรือ 'หายได้แล้ว'  หรือ “สู้ๆ นะ” เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดัน และผิดหวัง หากอาการเพิ่งเริ่มดีขึ้น ความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม
  • ไม่ต้องแนะนำผู้ป่วยให้ไปเข้าวัดฟังธรรมหรือทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ และยิ่งตีตัวออกห่าง ส่งผลให้เกิดความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้
  • อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หลายๆ คนคิดว่าการเอ่ยหรือพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเป็นแนวโน้มให้ผู้ป่วยอยากทำ หรือชี้โพรงให้กระรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยเอ่ยถึงการอยากตาย แล้วคนใกล้ตัวกลับมีท่าทีต่อต้าน หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า 'อย่าคิดมาก' 'อย่าคิดอะไรบ้าๆ' ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงอย่างมากว่าเราไม่รับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ ไม่มีวันจะเข้าใจเขาจริงๆ

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคติดต่อ การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบาก แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ การใส่ใจ การช่วยที่ดีที่สุดคือการอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์ และการเปิดใจรับฟังความรู้สึก ความคิดและจิตใจของพวกเขา โดยไม่ตัดสิน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าล้วนต้องการ

TAGS: #ซึมเศร้า #สุขภาพจิต