'ไบโพลาร์' ภาวะที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ แต่ไม่ยากที่จะอยู่ร่วมกัน

'ไบโพลาร์' ภาวะที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ แต่ไม่ยากที่จะอยู่ร่วมกัน
ทุกวันที่ 30 มีนาคมของทุกปีถือว่าเป็นวันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) ที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดใจให้กับโรคไบโพลาร์

กรมสุขภาพจิตให้สาเหตุ ภาวะไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้วสาเหตุสำคัญคือความผิดปกติของสารเคมีในสมอง โดยจะแสดงอาการ อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ร่าเริงผิดปกติ ไม่หลับ ไม่นอน พูดมาก พูดเร็ว เชื่อมั่นในตัวเองสูง และ อารมณ์เศร้าผิดปกติ ไม่อยากพบใคร ไม่อยากทำอะไร คิดลบ คิดช้า ไม่มีสมาธิ คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจคิดฆ่าตัวตายได้

ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษา คอยให้กำลังใจ สังเกตอาการ ควบคุมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำในช่วง Mania และคอยรับฟังผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

เว็บไซต์ สุขภาพจิตอเมริกา (Mental Health America)กล่าวถึงความสำคัญที่จะต้องมีวันไบโพลาร์โลกด้วยกัน 7 ประการ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยต่อสู้กับการถูกมอง หรือการถูกตีตราทางสังคมได้

1. โรคไบโพลาร์ส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของชีวิต อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าโรคไบโพลาร์สามารถเกิดขึ้นกับใครบางคนได้เนื่องจากเป็นโรคที่มองไม่เห็น ไม่ได้แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน

2.โรคไบโพลาร์เกิดจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่พันธุกรรมไปจนถึงเหตุการณ์ในชีวิต หลังจากการศึกษาที่กินระยะเวลาเกือบสองทศวรรษ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เหตุการณ์ในชีวิต หรือความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่อาจเป็นสาเหตุต้นตอของโรคไบโพลาร์ หลายครั้งเป็นการรวมกันของปัจจัยทางชีววิทยาและสิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคไบโพลาร์ได้

3.โรคไบโพลาร์ไม่ค่อยแสดงอาการด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว โรคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าเป็นเวลานาน โรคอารมณ์สองขั้วยังมาพร้อมกับสภาวะทางร่างกายและจิตใจอื่น ๆ ที่ต้องกังวล ซึ่งรวมถึงความผิดปกติของระบบเผาผลาญและไมเกรน

4. โรคไบโพลาร์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โรคไบโพลาร์ก็เหมือนกับรอยนิ้วมือ ไม่มีคนสองคนที่มีอาการเหมือนกันทุกประการ และการวินิจฉัยแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไปมาก อย่างไรก็ตาม โรคไบโพลาร์มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ไบโพลาร์แบบที่ 1 ซึ่งมีอาการคลุ้มคลั่งตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปซึ่งกินเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และไบโพลาร์แบบที่ 2 ซึ่งมีลักษณะอาการซึมเศร้ามากกว่า

5. มีคนดังมากมายที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ อย่างเช่น เดมี โลวาโต, ริชาร์ด ดรายฟัส และแมรี แลมเบิร์ต ที่ใช้ชื่อเสียงของตัวเองเพื่อต่อสู้กับความอัปยศจากโรคไบโพลาร์

6. วันไบโพลาร์โลกตรงกับวันเกิดของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ซึ่งแวนโก๊ะถือว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาล ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์หลังเสียชีวิต จึงอาจมีความเชื่อมโยงด้านความคิดสร้างสรรค์กับโรคไบโพลาร์

7. โรคไบโพลาร์อันตรายถึงชีวิต ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย วันไบโพลาร์โลกเป็นโอกาสที่จะแสดงให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่กับความท้าทายในแต่ละวันของสภาวะนี้ว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากคุณ และมีความหวังอยู่เสมอ

แม้กระทั่งคนดังอย่าง คิม คาร์เดเชียน ที่เคยร้องขอความเห็นอกเห็นใจ คานเย เวสต์ ป่วยไบโพลาร์ (เมื่อครั้งเคยเป็นสามีภรรยากัน) คิมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเวสต์เพื่อปกป้องลูก ๆ ของเธอและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเวสต์ เธอกล่าวว่าเธอต้องการจัดการกับ “ความอัปยศและความเข้าใจผิด” ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตนี้

เวสต์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยความเต็มใจในปี 2559 หลังจากได้รับการสังเกตเห็นพฤติกรรมของเขาผิดปกติ การใช้ชีวิตร่วมกับโรคไบโพลาร์อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างที่แวนโก๊ะเคยกล่าวไว้ว่า "การเริ่มต้นอาจยากกว่าสิ่งอื่นใด แต่จงมีกำลังใจ ทุกสิ่งจะผ่านไปด้วยดี"

TAGS: #สุขภาพจิต #ไบโพลาร์