ภาวะ Headline Stress Disorder เสพข่าวหดหู่อย่างไร ไม่ให้เครียด

ภาวะ Headline Stress Disorder เสพข่าวหดหู่อย่างไร ไม่ให้เครียด
แนะวิธีรับมือกับความเครียดเมื่อเสพข่าวที่เป็นลบ ชี้หากจัดการตนเองไม่ได้ติดต่อสายด่วน 1323 เพื่อขอความช่วยเหลือ พร้อมวอนสื่ออย่านำเสนอวิธีการทำร้ายตนเอง หรือ รูปภาพที่ทำให้เกิดความสะเทือนใจ

ภาวะ Headline Stress Disorder ภาวะเครียดหรือวิตกกังวลมากที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป การเสพข่าวหดหู่มากไปสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า อาการที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะ Headline stress disorder เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะ Headline Stress Disorder คือ คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วย อยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่ คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้ายได้เยอะ คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย

สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus สอบถามถึงวิธีรับมือกับความเครียดอย่างไร เมื่อเสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไป โดยนางเดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  อย่างแรกคือ 1. ต้องตั้งสติก่อนตอนที่รับข่าว เพื่อจะได้รู้อารมณ์ของตัวเอง ประเมินอารมณ์ตัวเองได้ด้วยว่าหากรับข่าวบ่อยๆแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง 2.หากเกิดอารมณ์เครียด ก็ต้องแบ่งเวลาต้องหยุดเสพข่าวก่อน โดยต้องไปหากิจกรรมหรือกิจวัตรประจําวันที่เคยทำอยู่ประจำเพื่อหันเหความสนใจกับเรื่องข่าว  

3. บางเรื่องเวลาที่เราเห็นสิ่งที่เป็นความคิดเห็นไม่ตรงกันบางคนรู้สึกโกรธว่าไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดหรือสิ่งที่เราคาดหวัง เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักปรับวิธีคิดของตัวเองว่า "คนเรามุมมองมันต่างกันได้วิธีคิดมันก็แตกต่างกันเพราะฉะนั้นก็อย่าไปเกิดอารมณ์ความโกรธหรือความเครียดกับสิ่งที่มันเป็นความคิดเห็นต่างๆที่เขาส่งมาให้" ไม่ควรแชร์สิ่งที่รู้สึกว่าหดหู่ โดยไม่ควรแชร์ไปให้คนอื่นหดหู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรแชร์สิ่งพวกนี้ ยิ่งรูปที่มีความรุนแรงหรือทำให้รู้สึกมีอารมณ์เราก็ไม่ควรแชร์ อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้วกับอารมณ์ความเครียดที่เกิดขึ้น สามารถติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อที่จะได้ขอความช่วยเหลือหรืออาจใช้วิธีการประเมินตนเองก่อนก็ได้ ถ้าเราไม่แน่ใจว่าตอนนี้อารมณ์อยู่ระดับไหน

TAGS: #ไฟไหม้รถบัส