โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย โรคภูมิแพ้ตัวเอง Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรค SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus เป็นโรคภูมิคุ้มกันทําลายตนเองหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง นับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย และมีอัตราการเสียชีวิตตํ่า โดยพบเพียงร้อยละ 0.1 (0.014 - 0.122) หรือคิดเป็นจํานวนผู้ป่วยในประเทศไทยราว 50,000 - 700,000 คน ส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงช่วงอายุราว 20 - 40 ปี
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด และมีหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง สำหรับอาการโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ต่ำ
- ปวดข้อ
- ปวดเมื่อย
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- ผมร่วง
- มีผื่นที่หน้า ที่แก้ม คล้ายปีกผีเสื้อ
- ผื่นขึ้นตามตัว แขน ขา
- ผื่นแพ้แสง
- แผลในปาก
- บวม
- ซีด
- มีจ้ำเลือดหรือจุดแดงคล้ายยุงกัดตามแขนขา
- มีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณจมูกและแก้ม
- อาการปวดบวมตาม ข้อ กล้ามเนื้อ
เป็นอาการนำที่พบได้บ่อย มักมีอาการเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดโรคอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด การติดเชื้อไวรัส การติดเชื่อแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน การได้รับยา หรือสารเคมีบางชนิด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยโรคต้องอาศัยหลักฐานจากลักษณะอาการร่วมกันกับผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการ ทั้งการตวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอื่น ๆ เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและเคร่งครัด เนื่องจากอาการที่กำเริบอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อาการสงบได้
นายแพทย์สูงชัย อังธารารักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและภูมิคุ้มกัน กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) หรือโรคพุ่มพวง สามารถเกิดจากการกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมนในวัยเจริญพันธ์ ความเครียด หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส,แสงแดด โดยอาการของโรคมีการกำเริบและสงบเป็นระยะ
การตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการและอาการแสดงดังกล่าวของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางภูมิคุ้มกัน (ANA , anti-dsDNA , anti Sm) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย จากสมาคมแพทย์โรคข้อของสหรัฐอเมริกาและยุโรป
วิธีการรักษา จะแบ่งตามระดับของความรุนแรง กรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาตามอาการ หากมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะสำคัญ เช่น ไตอักเสบ สมองอักเสบ เกร็ดเลือดต่ำ การทำลายเม็ดเลือดแดง จะมีการใช้ยาต้านมาลาเรีย ยาสเตียรอยด์และยากดภูมิ ซึ่งขนาดและวิธีการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคและอวัยะที่อักเสบ
ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองและทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล โดยวัตถุประสงค์ของการรักษาคือการควบคุมโรคให้เข้าสู่ระยะสงบ วิธีการป้องกันจึงเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
- ลดความเครียด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสะอาดหลีกเลี่ยงอาหารดิบ
- หลีกเลี่ยงแสงแดด
- ป้องกันการติดเชื้อ เช่นสวมใส่หน้ากากอนามัย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่สูบบุหรี่หรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสสารเคมี
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและห้ามหยุดยาเอง
หลีกเลี่ยงยาสมุนไพรหรือยาชุด อาหารเสริมนอกระบบ แม้โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงช่วยทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบหรือหายและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย