SATUEK Model หลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์ทุกมิติจากโรงเรียนสตึก บุรีรัมย์

SATUEK Model หลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์ทุกมิติจากโรงเรียนสตึก บุรีรัมย์
โรงเรียนสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ สถานศึกษาสุดยอดตัวอย่างสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในด้านการเรียนการสอนหุ่นยนต์ รวมทั้งทำ MoU กับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรม

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เดินหน้าขับเคลื่อนสถานศึกษายุคใหม่ให้พร้อมและก้าวทันกับเทคโนโลยี โดยได้ยกตัวอย่างโรงเรียนสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นสถานศึกษาสุดยอดตัวอย่างสถานศึกษาที่นำผลการประเมินไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในด้านการเรียนการสอนหุ่นยนต์และเกิดความโดดเด่นในด้านความคิดสร้างสรรค์ และวิศวกรรมของตัวผู้เรียน 

โดยสถานศึกษาส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทำให้สถานศึกษารู้จัก เข้าใจ มองเห็นจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษาอย่างเด่นชัดมากขึ้น เกิดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงและพัฒนา และได้นำข้อเสนอแนะไปใช้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาในหลายด้าน 

โรงเรียนสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนประจำอำเภอสตึกที่มีจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้นกว่า 2 พันคน โดยในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะแยกออกเป็นห้องวิทย์-คณิต และ ห้องการงานอาชีพ ในส่วนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะแยกสายให้เฉพาะมากขึ้น โดยเฉพาะสายวิทย์ที่จะแยกออกเป็นห้องวิทย์-คณิตพิเศษ, ห้องวิทย์-คณิต-คอม, ห้องวิทย์-คณิตทั่วไป, สายภาษาเฉพาะทางญี่ปุ่นและเกาหลี สุดท้ายคือห้องการงานอาชีพ

การแยกสายดังกล่าวเกิดจากการสำรวจและรับฟังคนในพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ในที่นี้คือผู้ปกครองของนักเรียนที่อยากให้บุตรหลานได้มีวิชาชีพ หรือความรู้ที่เฉพาะเจาะจงติดตัว เนื่องจากบางรายไม่สามารถที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดได้ หรือหลังจากจบการศึกษาไม่สามารถส่งไปเรียนต่อได้ เด็กจะได้มีความรู้ที่สามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ จึงเกิดการพัฒนาหลักสูตรขึ้น ผลลัพย์คือเด็กๆ เลือกที่จะเรียนต่อที่โรงเรียนสตึก

ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนทำให้เกิด SATUEK Model ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงกับนโยบาย “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” เข้าสู่ยุค 5.0 ทั้งการพัฒนาสถานศึกษา การเสริมสร้างความรู้ด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาผู้เรียน โดยสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อนาคต ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีเยี่ยมและมีทักษะการเรียนรู้รอบด้าน เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการประดิษฐ์หุ่นยนต์ซึ่งมีชื่อเสียงโดดเด่นและได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติหลายรายการ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้ 

นายธัชเวชช์ ศานติบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตึก กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่ผ่านๆ มา ทำให้สถานศึกษามองเห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาหลายด้าน และได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินมาปรับใช้ตั้งแต่การปรับแผนพัฒนาสถานศึกษาไปจนถึงการสร้างโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมถึงบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้ในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่ครบวงจร

ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้ง ด้านผลการเรียนของนักเรียนที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องโดยในปีการศึกษา 2565 นักเรียนทุกระดับชั้นมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14 และผลทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา โรงเรียนได้รับรางวัล IQA Award ระดับยอดเยี่ยม

การนำ SATUEK Model ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้และนิเทศภายใน โดยใช้หลักการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) มาใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดย SATUEK Model มาจาก

  • S คือ Strategic Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ 
  • A คือ Academic with Moral การส่งเสริม สนับสนุน 
  • T คือ Team Work การทำงานเป็นทีม 
  • U คือ Unity and Understanding ความเป็นเอกภาพและการสร้างความเข้าใจร่วมกัน 
  • E คือ Evaluation การประเมินผล 
  • K คือ Knowledge Management การจัดการความรู้ 

เน้นการทำงานเป็นทีมและการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ 5G ได้แก่ Good Student: เรียนดี มีความสุข ตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ Good Teacher: ครูมืออาชีพ Good Management: บริหารตามหลักธรรมาภิบาลGood School: โรงเรียนคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นมาตรฐานสากล และ Good Community: ชุมชน มีความเชื่อมั่น และได้นำผลสำเร็จของโมเดลนี้มาจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไปยังโรงเรียนอื่นๆ

นอกจากนี้ โรงเรียนสตึกยังได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยมในโครงการ “สถานศึกษาต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และ Soft Power” และสามารถเป็นแบบอย่างได้ โดยเฉพาะด้านการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์และการคิดเป็นลำดับขั้นตอนแบบบูรณาการผ่านกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของหุ่นยนต์ และได้บูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนรู้ของสายวิทย์-คณิต ดำเนินการภายใต้ SATUEK DECP Model โดย D-Design คือ การออกแบบจินตนาการด้วยตนเอง E-Engineering คือ กระบวนการของวิศวกรรม C-Create คือ การคิดสร้างสรรค์ P-Program คือ การใช้โปรแกรมเขียนควบคุม ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการสร้างสรรค์หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา 

โดยสอนปูพื้นฐานมาตั้งแต่ชั้น ม. 1 และมีการจัดทำห้องเรียนพิเศษที่เรียกว่า “ชุมนุมหุ่นยนต์” โดยเปิดรับนักเรียนที่สนใจเฉพาะทางมาฝึกฝนทักษะการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อย่างเป็นระบบจนสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมและสร้างสรรค์ชิ้นงานได้จริง และส่งเสริมให้เข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ซึ่งรางวัลและเกียรติบัตรต่างๆ ที่นักเรียนได้รับนี้สามารถใช้เป็นผลงาน (Portfolio) เพื่อเป็นใบเบิกทางสำหรับศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย 

รวมถึงโรงเรียนยังได้ทำ MoU กับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนสายวิทย์-คณิตคอมเตรียมวิศวะ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสำหรับศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยตรงซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองและผู้เรียนเป็นอย่างดี 

TAGS: #การศึกษา #โรงเรียนสตึกบุรีรัมย์