ไทยพบผู้ป่วยอิวารี่ อายุ 32 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 4 พอตต่อวัน หรือ ปริมาณมากถึง 400 สูบต่อวัน จะไม่สูบเฉพาะตอนชาร์จอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าและตอนที่นอนหลับเท่านั้น
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.ภาวินี วงค์ประสิทธิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ร่วมแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบุรีรัมย์
พญ.ภาวินี กล่าวขอบคุณผู้ป่วยและครอบครัวที่อนุญาตให้เผยแพร่เรื่องราวและประวัติการรักษาในครั้งนี้ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นปัญหาของไทยและหลายประเทศ โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี อาการป่วยแรกรับคือไอเป็นเลือด เหนื่อยหอบ เหงื่อเยอะ จากนั้นเกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรงมาก
แพทย์จึงทำการใส่ท่อช่วยหายใจทั้งนี้ผลจากฟิล์มเอ็กซเรย์พบว่าบริเวณปอดมีฝ้าขาว และฟิล์มเอ็กซเรย์มีการเปลี่ยนแปลงเร็วทำให้อาการทรุดตัวรวดเร็วภายใน 24-36 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเจอได้ไม่บ่อยนัก แพทย์จึงทำการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงวัณโรค เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ โรค RSV เป็นต้น ซึ่งผลตรวจออกมาไม่พบการติดเชื้อใดๆ
ในช่วงที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล อาการค่อนข้างวิกฤต รวมถึงมีภาวะการลงแดง ทำให้แพทย์สงสัยว่าเป็นการลงแดงจากการขาดสารนิโคติน แต่ด้วยช่วงแรกผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทำให้พูดไม่ได้ แพทย์จึงไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้
แต่เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้แล้ว ทำการซักประวัติย้อนหลังพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ปริมาณมากถึง 400 สูบต่อวัน หรือประมาณ 4 พอตต่อวัน จะไม่สูบเฉพาะตอนชาร์จอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าและตอนที่นอนหลับเท่านั้น จากประวัติผู้ป่วยแพทย์จึงมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรืออิวารี่ (Evali) ผู้ป่วยทำการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 28 วัน
ซึ่งภาวะปอดอักเสบรุนแรงดังกล่าว มีการวินิจฉัยว่าเกิดจากน้ำมันกัญชาที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่าร้อยละ 10-20 ไม่มีน้ำมันกัญชาเป็นส่วนประกอบในบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าก็เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้น สาเหตุการเกิดอิวารี่ ยังไม่มีการสรุปชัดเจนว่าเกิดจากน้ำยาประเภทใด แต่ที่แน่นอนคือเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าแน่นอน
กรมควบคุมโรค ปรับระบบการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยกำหนดให้แพทย์ต้องซักประวัติการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในผู้ป่วยที่เข้าข่ายภาวะปอดอักเสบ และทำการรายงานผลที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง เพื่อให้เป็นข้อมูลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการควบคุมบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบันไทยยังคงห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายชัดเจนในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1.สร้างแกนนำเด็ก และ 2.กำหนดจุดจัดการที่เป็นต้นแบบทุกจังหวัด เช่น คลินิกครบวงจรในการเลิกบุหรี่ สนับสนุนยาเลิกบุหรี่ให้กับผู้ป่วย
นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า จริงๆ ในประเทศไทยพบการรายงานผู้ป่วยโรคอิวารี่ครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งหลังจากนั้นระบบการเฝ้าระวังโรคมุ่งไปที่โรคโควิด-19 มากกว่า จึงทำให้เจอเคสรายงานผู้ป่วยแต่ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ ตอนนี้กรมควบคุมโรคได้ปรับระบบการเฝ้าระวังใหม่ ทำให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้ถือเป็นรายแรกของปี 2567 โดยได้เน้นย้ำกับโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ซักประวัติผู้ป่วยโดยละเอียด เชื่อว่าหลังจากนี้ จะมีการรายงานเคสผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับวาทกรรมการปลุกผีอิวารี่ เพื่อสกัดตลาดการขายบุหรี่ไฟฟ้า นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการกำหนดเงื่อนไขในการวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล โดยกรมควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการตัดสาเหตุเรื่องการติดเชื้อในปอดออก พร้อมซักประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และดูเรื่องของอาการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
ขณะที่ พญ.ภาวินี กล่าวว่า ในผู้ป่วยโรคอิวารี่ จะมีภาวะปอดอักเสบที่ต่างจากการติดเชื้อทั่วไป อย่างผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้ มีผลการเอ็กซเรย์ปอดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 10 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีโรคติดเชื้อหลายที่อาการของโรคเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้
“ผู้ป่วยปอดอักเสบในวัยรุ่น ถ้ามาพบแพทย์หรือใส่ท่อช่วยหายใจไม่ทันเวลา ก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากนั้นก็จะเป็นเคสเสียชีวิตจากปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างเช่นผู้ป่วยรายนี้ถ้ามาหาหมอแล้วให้กลับบ้านไปเชื่อได้ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในวันเดียวกันนั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการซักประวัติผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อให้รู้ว่ามีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า” พญ.ภาวินี กล่าว
อาการของโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือ EVALI ย่อมาจาก E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่ที่เป็นโรค EVALI โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีอาการไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่าร้อยละ 77 ของผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีภาพ X-ray และ CT Scan ปอดมักจะมีความผิดปกติ เป็นฝ้าขาว และจะหายใจไม่ไหว
ทั้งนี้หากพบเห็นผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าสามารถติดต่อไปที่สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1166, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 และ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422