7 งานวิจัยเผย “การเจริญสติเป็นวิทยาศาสตร์” การเจริญสติไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดเชิงจิตวิญญาณหรือธรรมะเท่านั้น แต่ยังมีผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ทั้งในด้านการลดความเครียด พัฒนาความสามารถในการทำงาน
การเจริญสติ คือ การกำหนดอิริยาบถให้ทันปัจจุบันและรับรู้ความรู้สึกตามทวารต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาให้มากที่สุด ตามจริงที่ใจรู้พร้อมกับกิริยาเคลื่อนไหวอื่นๆ ทำให้อะไรก็ให้มีสติกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบันให้มากที่สุด เหมือนเป็นวิธีการนั่งสมาธิตามพระพุทธศาสนา อาจจะรู้สึกว่าทำไม่ได้จริง หรือหากถ้าทำได้จริงก็เป็นไปได้ยาก แต่วิธีการนี้กลับเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เราคิด เฟซบุ๊ก คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา เผย 7 งานวิจัยที่ยืนยันว่าการเจริญสติเป็นวิทยาศาสตร์ ว่า
"ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา “การเจริญสติ” หรือ “Mindfulness” กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลก มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า การเจริญสติไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดเชิงจิตวิญญาณหรือธรรมะเท่านั้น แต่ยังมีผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ทั้งในด้านการลดความเครียด การพัฒนาความสามารถในการทำงาน การจัดการกับอารมณ์ และผลดีต่อสุขภาพจิตและร่างกาย
งานวิจัยที่ 1: การเจริญสติช่วยลดระดับความเครียด ลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เชื่อมโยงกับความเครียด ทำให้ผู้ฝึกมีความสามารถในการจัดการความเครียดได้ดีขึ้น
งานวิจัยที่ 2: ส่งผลดีต่อสมองและการทำงานของสมอง งานวิจัยพบว่า การฝึกสติเป็นเวลา 8 สัปดาห์ช่วยเพิ่มความหนาของเนื้อสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจำและความยืดหยุ่นในการทำงาน และยังช่วยลดขนาดของอะมิกดาลา ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการตอบสนองของความกลัวและความกังวล
งานวิจัยที่ 3: การฝึกสติช่วยลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การฝึกสติช่วยลดระดับของอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น และช่วยลดการกำเริบของภาวะซึมเศร้าได้
งานวิจัยที่ 4: การเจริญสติส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชีวิต งานวิจัยพบว่าผู้ที่ฝึกการเจริญสติมีความสามารถในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้ดีขึ้น ลดการตอบสนองทางลบและเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดี
งานวิจัยที่ 5: ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย การเจริญสติไม่ได้เป็นผลดีแค่จิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย เช่น ลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ การฝึกสติเป็นประจำช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น
งานวิจัยที่ 6: ช่วยเพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงาน งานวิจัยพบว่าผู้ที่ฝึกการเจริญสติสามารถโฟกัสกับงานได้ดีขึ้น มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
งานวิจัยที่ 7: ส่งผลดีต่อการนอนหลับ การฝึกสติยังช่วยให้ผู้ฝึกมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น งานวิจัยพบว่าผู้ที่ฝึกสติเป็นประจำมีการหลับลึกมากขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
By…คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา"
อ้างอิง
• Brown, K. W., & Ryan, R. M. (2003). The benefits of being present: Mindfulness and its role in psychological well-being. Journal of Personality and Social Psychology.
• Farb, N. A., et al. (2007). Attending to the present: Mindfulness meditation reveals distinct neural modes of self-reference. Social Cognitive and Affective Neuroscience.
• Davidson, R. J., & McEwen, B. S. (2012). Social influences on neuroplasticity: Stress and interventions to promote well-being. Nature Neuroscience.
• Hoge, E. A., et al. (2013). Randomized controlled trial of mindfulness meditation for generalized anxiety disorder: Effects on anxiety and stress. Journal of Clinical Psychiatry.
• Hölzel, B. K., et al. (2011). Mindfulness practice leads to increases in regional brain gray matter density. Psychiatry Research.
• Segal, Z. V., et al. (2010). Antidepressant monotherapy versus sequential pharmacotherapy and mindfulness-based cognitive therapy, or their combination, for relapse prophylaxis in recurrent depression. Archives of General Psychiatry.
• Zeidan, F., et al. (2010). Mindfulness meditation improves cognition: Evidence of brief mental training. Consciousness and Cognition.
ศูนย์ปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบเคลื่อนไหว วัดป่าโสมพนัส เผยเทคนิค การเจริญสตินั้นไม่ได้มีแค่การนั่งสมาธินิ่งๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถเจริญสติขณะเคลื่อนไหวได้อีกด้วย เช่น “การเดินจงกรม” ก้าวเท้าตามปกติ ไม่เร็วไม่ช้า ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป ให้พอดีกับที่เราเดิน เอามือไขว้หลัง หรือจับกันไว้ด้านหน้าก็ได้ ไม่ไกวแขน เดินไป-กลับทางตรง ประมาณ 10-12 ก้าวก็พอ ไม่ต้องใช้คําบริกรรมประกอบการเดิน สติระลึกรู้เท้าขณะสัมผัสพื้นทุกครั้งไปเรื่อยๆ รู้เป็นธรรมชาติ
การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวอิริยาบถ ที่มีการนั่งสร้างจังหวะและการเดินจงกรมจัดอยู่ในหมวดของ อิริยาบถและสัมปชัญญะบรรพ แต่ความสําคัญของกรรมฐานทุกรูปแบบนั้น เป็นเพียงเครื่องมือให้ได้ ตัวรู้ “สติแบบปรมัตถ์” หรือมหาสติ เป็นอาการรู้ตัวทั่วพร้อมรู้ได้ทั้งกายและจิต
หากสติได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนกายคตาสติอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดอาการของอารมณ์วิปัสสนาตามลําดับ ไม่ว่าจะเป็นการกําหนดรู้กับอาการกายส่วนใด เจริญสติบรรพไหนก็ตาม (ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ ตามรู้ลมหายใจ,กายคตาสติ ตามรู้อิริยาบถ) จุดสตาร์ทต่างกัน แต่เมื่อขึ้นสู่เส้นทางอารมณ์กรรมฐานได้แล้วก็จะเหมือนกัน ดังนี้
- ช้าก็รู้
- เร็วก็รู้
- เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัพพะกายะปฏิสังเวที)
- เกิดความเอิบอิ่มใจ (ปีติปะฏิสังเวที)
- เกิดความสุขในขณะเคลื่อนไหวกาย (สุขะปะฏิสังเวที)
- รู้ว่าจิตที่ปรุงแต่งสงบระงับแล้ว (จิตตะสังขาระปฏิสังเวที)
- รู้ว่าไม่ปรุงแต่ง (จิตตะปะฏิสังเวที)
- รู้ว่าดับความปรุงแต่งให้สงบระงับอยู่ (ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง)
- รู้จิตในขณะเคลื่อนไหวด้วย (จิตตะปฏิสังเวที)
- จิตจะเกิดปราโมทย์ (อภิปปะโมจจะยัง จิตตัง)
- มีสมาธิตั้งมั่น (สมาทะหัง จิตตัง)
- เกิดการปล่อยวาง (วิโมจจะยัง จิตตัง)
- เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจา)
- ความจางคลาย (วิราคา)
- ความดับไม่เหลือ (นิโรธา)
- ความสลัดคืน (ปฏินิสสัคคา)