ผลสำรวจสุขภาวะคนวัยทำงาน 97% ติดบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม 93% หนี้สินพุ่ง-ไร้แนวทางบริหารจัดการ 66% เครียดจากภาระงานหนัก
เปิดผลสำรวจสุขภาวะคนวัยทำงานภาคประชาสังคม น่าห่วง 97% ติดบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม 93% หนี้สินพุ่ง-ไร้แนวทางบริหารจัดการ 66% เครียดจากภาระงานหนัก สสส. สานพลัง พม.-ม.ส.ท ลงนาม MOU ขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม ชูแนวคิด Happy Workplace ช่วยคนทำงานไทยมีสุขภาพดี-การเงินดี-สภาพแวดล้อมที่ทำงานดี
นางจตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือภายใต้โครงการขับเคลื่อนและขยายผลองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคม สนับสนุนโดย สสส. เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรแห่งความสุข สร้างกลไกการขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคมให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้การลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากรของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ที่มุ่งเน้นการเสริมพลัง การเพิ่มโอกาส และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อคนทุกช่วงวัย โดยอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาประเทศ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวปาฐกาถาในหัวข้อ ความสำคัญของความร่วมมือด้านสุขภาวะองค์กรภาคประชาสังคมว่า ที่ผ่านมาการทำงานของภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อน ส่งผลต่อแรงกดดัน ความเครียด และพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ได้โดยไม่รู้ตัว สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม 39 แห่งทั่วประเทศ ปี 2567 โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า คนภาคประชาสังคมมีปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเร่งด่วนในมิติ Happy Body, Happy Relax และ Happy Money (ตามแนวคิด Happy 8) โดยสาเหตุความเครียดมาจากภาระงานที่หนัก สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย รับประทานอาหารเน้นหวาน มัน เค็ม การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีเงินออมที่เพียงพอ ดังนั้น คนทำงานภาคประชาสังคม จึงควรได้รับการดูแลจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมิติความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ
นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ความร่วมมือการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข...สู่ความเข้มแข็งองค์กรภคประชาสังคมว่า พส. ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 มีเป้าหมายสำคัญ คือการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานให้มีสุขภาวะตามแนวคิด Happy 8 และ Happy Workplace ของ สสส. รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง เกิดกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ไทยมีคนวัยทำงานอยู่ 39 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพป่วยโรค NCDs ที่น่าสนใจยังพบว่ากลุ่มโรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนวัยทำงานมากที่สุดอันดับ 1 คือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง มีสาเหตุจากการขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพและปัจจัยปัญหาพฤติกรรมสุขภาพคนทำงานกลุ่มภาคประชาสังคม ในองค์กรภาคประชาสังคม 72 แห่ง 23 จังหวัดทั่วประเทศ ปี 2567 โดย สสส. และสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบคนวัยทำงานภาคประชาสังคมมีปัญหาหนี้สิ้น 93%รับประทานอาหารรสชาติหวาน มัน เค็ม สูง 97% มีภาวะเครียดจากการทำงาน 66% ติดแอลกอฮอล์ 60.6% และเผชิญภาวะอ้วนลงพุง 32.45
“การขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม สสส. ได้ร่วมกับ พส. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของคนทำงานในภาคประชาสังคม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร ปั้นให้เกิดนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 250 คน มุ่งเป้านำร่องในองค์กรภาคประชาสังคม 50 แห่ง ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลให้เกิดเป็นโมเดลต้นแบบองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคมนำร่อง 5 แห่ง ภายในปี 2569 เป็นโมเดลองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะ ที่พัฒนาให้คนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” นางภรณี กล่าว