เตรียมความพร้อม “ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ”

เตรียมความพร้อม “ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ”
กรมควบคุมโรค เตรียมความพร้อม “ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ” พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “ก้าวเข้าสู่  ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ” พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัว ให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

โควิด 19 แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ดี ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 14 ธันวาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 44,548 ราย เสียชีวิต 220 ราย โดยระหว่างวันที่ 8 - 14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 730 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 639,108 ราย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 48 ราย เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ไม่ได้รับวัคซีน และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว แนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมักเพิ่มขึ้น เน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันการป่วย โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

ไข้เลือดออก ผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 11 ธันวาคม 2567 จำนวน 101,581 ราย ยังคงพบผู้ป่วยสูงในภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังคงมีฝนตกและน้ำท่วม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 105 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว ยังคงเน้นย้ำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยป่วยไข้เลือดออก และแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจาม ติดง่ายในเด็กเล็กหรือ  ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เช่น ไอเป็นชุดยาวจนหายใจไม่ทัน และมีเสียง "วู้ป" หลังไอ หอบเหนื่อย อาจเกิดภาวะหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 1,245 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีประวัติได้รับวัคซีน  ไม่ครบ และพบผู้เสียชีวิต 2 ราย (เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน)

แนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุด จะฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน  และ 4 ปี จากนั้นควรให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 10-12 ปี และกระตุ้นต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่ทุก 10 ปี 

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2561 - 2567 พบผู้ติดเชื้อ Norovirus GI, GII จำนวน 729 ราย เป็นเพศชาย 422 ราย เพศหญิง 307 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในปีนี้ สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 ธันวาคม 2567 พบการระบาด    85 เหตุการณ์ พบมากที่สุดในโรงเรียน จำนวน 12 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 991 ราย 

คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่กินอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนกินทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร เลือกดื่มน้ำที่มีเครื่องหมาย อย. บรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยรั่ว น้ำแข็ง ให้เลือกน้ำแข็งที่ใส สะอาด ไม่มีสีกลิ่น ไม่มีฝุ่นละอองในก้อนน้ำแข็ง และที่สำคัญต้องไม่แช่ของอื่นปนกับน้ำแข็งที่รับประทาน

โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ ไข้หวัดนก สถานการณ์ทั่วโลกยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 แต่ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศเวียดนาม 1 ราย มีประวัติพบสัตว์ปีกป่วยตายใกล้บ้านผู้ป่วยหลายร้อยตัว ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และพบผู้ป่วย 2 ราย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม ขณะนี้รักษาหายดีแล้ว 

คำแนะนำสำหรับประชาชน รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกรหรือโคนมที่ป่วย หรือตาย เกษตรกรผู้เลี้ยงหากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ไม่ควรนำซากสัตว์มาชำแหละประกอบอาหาร หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ

ฝีดาษวานร สถานการณ์ทั่วโลกในปี 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 19,823 ราย เสียชีวิต 73 ราย และในทวีปแอฟริกา พบผู้ป่วย 13,257 ราย เสียชีวิต 60 ราย สำหรับประเทศไทยในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปี - 14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 175 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Clade II ส่วนสายพันธุ์ Clade Ib ยังคงพบแค่ 1 ราย คำแนะนำสำหรับประชาชน ให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เฝ้าระวัง สังเกตอาการเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หากมีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันทีอย่าชะล่าใจเนื่องจากมีโอกาสอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ 

ไข้โอโรพุช สถานการณ์ทั่วโลก 1 มกราคม - 25 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วย 11,664 ราย เสียชีวิต 2 ราย พาหะหลัก คือ ตัวริ้น และอาจพบได้ในยุง พบผู้ป่วยมากในทวีปอเมริกา ระยะฟักตัว 4-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น มีเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา และตามไรฟัน ในประเทศไทยมีความเสี่ยงการระบาดค่อนข้างต่ำมาก 

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ พาหะหลักคือตัวริ้น ซึ่งไม่มีรายงานพบในประเทศไทย คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปในประเทศไปที่มีการระบาด 1.สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ป้องกันไม่ให้ถูกยุงและตัวริ้นกัด 2) ทายากันยุง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มียุงหรือแมลง 3) หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการป่วยไข้เฉียบพลัน และมีผื่นขึ้นภายใน 7 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อดำเนินการสอบสวน วินิจฉัยและควบคุมโรคต่อไป

โรคระบาดที่ไม่ทราบสาเหตุในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 527 ราย มีผู้เสียชีวิต 32 ราย ลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการของผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพศหญิง อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ ไอ ร่างกายอ่อนเพลีย และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 องค์การอนามัยโลกรายงานพบ 10 จาก 12 ตัวอย่างที่เก็บมาให้ผลบวกต่อเชื้อมาลาเรีย จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมจากตัวอย่างที่เก็บมา เพื่อยืนยันตัวการก่อโรคและการวินิจฉัยโรค

กรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าสู่สถานที่ปิด หรือผู้คนแออัดการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เน้นย้ำ การป้องกันตนเองจากการถูกยุงหรือแมลงกัด ให้รับประทานอาหารที่สุกปรุงใหม่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด รวมถึงสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วยภายใน 1-3 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการป่วยหลังการเดินทางดังกล่าว

ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย เพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่า ในช่วง  7 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 - 2565 ในปีนี้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 3 ราย มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 90 วัน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบปอดมีลักษณะเป็นฝ้า ยืนยันไม่พบการติดเชื้อทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเฉียบพลัน เช่น หายใจลำบาก ไอ เหนื่อยหอบ หรืออาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ดังนี้ 1.พัฒนาองค์ความรู้ถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 2.สร้างค่านิยมให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ “ไม่มี ไม่ใช้ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” 3.เน้นย้ำให้โรงเรียนทุกแห่งดำเนินการสื่อสาร รณรงค์ สร้างกระแสในสถานศึกษาประเด็น “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับร้านค้าที่มีการขายหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่ เป็นต้น

ประเด็นเพิ่มเติม การรณรงค์ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ ข้อมูลของปีที่แล้วระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 284 ราย สาเหตุอันดับ 1 คือ ขับรถเร็ว (38.90%) รองลงมาดื่มแล้วขับ (23.16%) สำหรับแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เน้นย้ำมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” และ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลสถิติและปัญหาด้านการดื่มพื้นที่ เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเข้มงวด 

2.ประชาสัมพันธ์ร้านค้าหรือสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นประเด็นการขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนดและห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 3.บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกราย ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุ และรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน

TAGS: #สุขภาพ #โรค