ไวรัส hMPV ไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน ในกลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน
โรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (hMPV) คือ ไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ RSVที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปอดอักเสบ ซึ่งมักพบการระบาดในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว คือตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี รวมถึงในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้
โดยเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย ไอ หรือจาม ซึ่งจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก เหนื่อย หายใจไม่สะดวก
การป้องกันโรคติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน สำหรับป้องกันการติดเชื้อ hMPV หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาเชื้อนี้โดยตรง สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดคือ สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อไปในที่ชุมชนคนเยอะ ๆ เลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย ไม่เอามือไปแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจ
ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง การระบาดของไวรัส hMPV (human meta-pneumovirus) ระบุว่า
hMPV (human meta-pneumovirus) ไม่ใช่ไวรัสใหม่ ไวรัสนี้มีมานานมากแล้ว แต่เพิ่งจะมาพบในปี ค.ศ. 2000 โดยทีมนักไวรัสวิทยา ที่ Erasmus University เนเธอร์แลนด์ แยกไวรัสนี้ได้จากเด็กเล็ก 2 ราย ที่ป่วยเป็นปอดอักเสบรุนแรง และตรวจไม่พบไวรัสที่เคยรู้จักกันมาก่อน จึงใช้วิธีการทางชีวโมเลกุล ตรวจชิ้นส่วน RNA โดยวิธีการสุ่ม เมื่อเปรียบเทียบพันธุกรรม คล้ายคลึงกับ Avian pneumovirus ในนก แต่เมื่อมาทดสอบกับสัตว์ทดลอง ใช้ไก่งวงแทนนก และลิง พบว่าไก่งวงไม่เป็นโรค แต่ลิงมีน้ำมูกไหล เป็นหวัด จึงรู้ว่าไวรัสตัวนี้ไม่ได้ข้ามมาจากนก
ต่อมาได้มีการเอาน้ำเหลืองที่เก็บไว้มานานกว่า 50 ปี มาตรวจก็พบว่ามีปฏิกิริยาภูมิต้านทานต่อไวรัสตัวนี้แล้วโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ แสดงว่าไวรัสนี้มีมานานมากกว่า 50 ปี เมื่อแยกพันธุกรรม ทั้งตัว ก็สามารถที่จะพัฒนาวิธีการตรวจ และองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น
ทางศูนย์ไวรัสของเราที่จุฬา ได้ทำการตรวจมาตั้งแต่ปี 2001 และเผยแพร่ในวารสาร Scand J Infect Dis. 2003;35(10):754-6. doi: 10.1080/00365540310000094. Human metapneumovirus infection in Thai children และหลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ในวารสารเป็น ภาษาอังกฤษ ในนานาชาติเรื่อยมา อีก 3 รายงาน
พบไวรัสนี้ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ในเด็ก ประมาณร้อยละ 4 และต่อมาก็ได้มีการตรวจอย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน พบไวรัสนี้ประมาณร้อยละ 4-8 เป็นไปตามฤดูกาลกับโรคทางเดินหายใจอื่น จะพบมากในฤดูฝน และช่วงฤดูหนาวอีกเล็กน้อย
อาการของไวรัสนี้ไม่แตกต่างกับไวรัสตัวอื่น ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจพบได้ ตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการน้อย จนถึงอาการมากลงปอด พบได้ทุกอายุ แต่พบได้มากในเด็ก และก่อนหน้านี้ไม่มีวิธีการตรวจ นอกจากใช้ทางชีวโมเลกุล ปัจจุบันการตรวจง่ายมาก ใช้วิธีการเช่นเดียวกับ ATK ของโควิด จึงได้มีการพูดถึงกันมากขึ้น
การดูแลรักษาและการป้องกัน ทำได้เช่นเดียวกันกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ดูแลเรื่องสุขลักษณะ ให้ร่างกายแข็งแรง ล้างมือ ใครมีอาการทางเดินหายใจ ไม่ควรไปโรงเรียน หน้ากากอนามัยให้ใส่ในผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจทุกคน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คนอื่น