PM 2.5 ส่งผลเสียหนัก ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งน่าห่วง

PM 2.5 ส่งผลเสียหนัก ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งน่าห่วง
ในฤดูหนาวนี้ การเฝ้าระวังและป้องกันฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสุขภาพของคนที่เรารัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะมีความนิ่งมากขึ้น มีลมอ่อน และอุณหภูมิลดลง ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่มักเกิดการเผาป่าหรือตอซังในการเกษตร สภาพอากาศที่นิ่งทำให้ฝุ่นไม่สามารถลอยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 สะสมอยู่ในอากาศมากกว่าปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 จะลดลงได้ก็ต่อเมื่ออากาศเปิดหรือมีความกดอากาศสูงพัดผ่าน ทำให้อากาศเคลื่อนตัวได้ตามปกติ

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้สูงอายุมักเคลื่อนไหวได้ช้ากว่าคนทั่วไป ดังนั้น ผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 โดยมีคำแนะนำดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
  2. แจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากฝุ่น PM 2.5
  3. สังเกตอาการที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 และแจ้งให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ
  4. แนะนำการป้องกันตนเองและการจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากฝุ่นสำหรับผู้สูงอายุ

แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ เสริมว่าฝุ่น PM 2.5 อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น การระคายเคืองตา โรคทางเดินหายใจ ปัญหาผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และภาวะสมองเสื่อม เพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว กรมการแพทย์มีคำแนะนำในการจัดสภาพบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. ปิดประตู หน้าต่าง และช่องว่างต่างๆ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่น
  2. ทำความสะอาดบ้านทุกวันโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหรือถูพื้น แทนการใช้ไม้กวาด
  3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นในบ้าน เช่น การจุดธูป จุดเทียน หรือใช้สารเคมี
  4. ช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยหมุนเวียนอากาศ แต่ไม่ควรใช้พัดลมดูดอากาศที่อาจดูดฝุ่นจากภายนอกเข้ามา
  5. เลือกใช้เครื่องกรองอากาศอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการวางเครื่องกรองอากาศใกล้เครื่องปรับอากาศหรือห้องน้ำ

หากค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์ปกติ ควรแนะนำให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หรือหากจำเป็นต้องออกไป ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เตรียมยาที่จำเป็น เช่น ยาประจำตัว และสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ทันที

TAGS: #ฝุ่น #PM25 #ผู้สูงอายุ